วันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2560

การสะสมธนบัตรควรเริ่มต้นอย่างไร

สำหรับผู้ที่คิดจะเริ่มสะสมธนบัตรใหม่นั้น มีข้อแนะนำเพื่อเป็นแนวทางปฎิบัติดังนี้


ขั้นเตรียมความพร้อมก่อนออกสู่ยุทธภพ

       1. หาซื้อคู่มือสะสมธนบัตรไทย ของใครแต่งก็ได้แล้วแต่ท่านชอบด้วยราคาและภาพสวยงามถูกใจ
-เพื่อท่านจะได้เห็นรูปร่าง ขนาด สีธนบัตร ราคาซื้อขาย (ซื้อกันจริงๆจะต่ำกว่าคู่มือเสมอ แต่ถ้าเดินไปร้านคนแต่งตำราแล้วขายธนบัตรด้วยจะโดนหวดอย่างแรง บางใบจะแพงกว่าราคาอ้างอิง ด้วยคำง่ายๆ ? ตัวนี้สวยกิ๊บเลยนะหายาก ราคาย่อมสูงกว่าคุ่มือ ต่อให้คุณตระเวนหาก็ไม่เจอสภาพนี้หรอก? ท่านจงนึกในใจว่า ? ธนบัตรพิมพ์กันเป็นแสน-ล้านใบ จริงอยู่นะเวลานี้มันมีฉบับนี้ที่สวยงามจริง(หรือล้างตัดแต่งมาหรือเปล่าก็ไม่ทราบ) จงอย่ารีบกระโจนเข้าใส่ ของแบบนี้มันสมบัติผลัดกันชม เดี่ยวก็มีของออกมาอีก อาจต้องรอ 4-5ปี แต่ได้ราคาที่ถูกกว่าซื้อ ณ.นาทีนั้นด้วยซ้ำไป?

       2. เริ่มหาซื้อหนังสือเก่าเกี่ยวกับธนบัตรมาอ่านจะได้รู้ว่าแต่ละรุ่นเขาพิมพ์กันแบบไหน กระดาษอะไร หมวดไหนบ้างที่พิมพ์ใช้จริง จุดปลอมจะสังเกตตรงไหนบ้าง อันนี้ต้องอ่านแล้วตีความเองนะท่านเพราะตำราบางเล่มก็เขียนมั่วก็มี ต้องอ่านหลายเล่มมาเทียบคียงกัน

       3. ออกเดินดูตามตลาดนัดต่างๆพูดคุยกะพ่อค้า(ห้ามซื้อของในช่วงนี้นะ) สอบถาม ก็จะได้ความรู้แบบ 50:50 มาพอเข้าเค้าเรื่องราคาโดยเฉลี่ย จุดดูเล็กน้อย(เขาไม่บอกจุดตายในการดูแน่นอน) บางทีท่านก็อาจได้พบปะนักสะสมรุ่นต่างๆมาซื้อหาธนบัตร ก็ควรไปพูดคุยทำความรุ้จัก ท่านก็จะได้ความรุ้มาประดับเพิ่มอีกแถมได้เพื่อนต่างอาชีพเพิ่มขึ้นอีก ถ้าเกิดคุยถูกคออัธยาศัยดี อาจได้ธนบัตรรุ่น 12-14 ในราคาเท่าหน้าธนบัตรหรือไม่แพงมาก(จะได้ในคราวต่อ ๆ ไปนะ ไม่ใช่เจอกันครั้งแรกก็ได้เลย)

       4. ท่านก็จะพอทราบคร่าวๆแล้วว่าที่ไหนเขามีการซื้อขายธนบัตรกันบ้าง (แต่ละที่จะมีราคาและธนบัตรที่แตกต่างกันมาก บางแห่งก็จะมีแต่สภาพไม่ดีราคาแพง ไว้ขายพวกมือใหม่ จงอย่าเห็นว่าเงินแค่หลักร้อยหลักพันได้ธนบัตรยุค ร6-8 มา แล้วควักกระเป๋าซื้อโดยเด็ดขาด เพราะพวกนี้จะสภาพไม่ดีหรือผ่านการตกแต่ง เช่น ล้าง ตัดขอบ ทำให้ดูงามขึ้น แต่เวลาขายออก แทบจะไม่มีคนรับซื้อเลย หรือซื้อก็ถูกมากๆ เรียกว่าขาดทุนเละเทะ แทบจะเอาเท้าก่ายหน้าผาก+หลังกาหลัง 3ตลบ )

       5. กลับบ้านมาอ่านตำราเปรียบเทียบดูราคาสภาพ กับของที่ผ่านตามา ค่อยตัดสินใจต่อไป


ขั้นลงจากเขาสู่ยุทธภพ

       1. ควรหาซื้ออัลบัมสะสมมาสักเล่มก่อน เลือกแบบสภาพดีหน่อยไม่ต้องแพงมาก

       2. เริ่มหาธนบัตรมาใส่ (ควรใส่ซองพลาสติกก่อนใส่ลงในอัลบั้มอีกที)
เริ่มสะสมธนบัตรที่หาได้ง่ายก่อน โดยเริ่มต้นจากธนบัตรที่ออกใช้หมุนเวียนในปัจจุบัน เพราะหาแลกได้ตามธนาคารทั่วไป ให้ครบทุกราคา ในสภาพUNC(uncirculated ไม่ผ่านการใช้การใช้งาน) แล้วค่อยทยอยหารุ่นอื่นๆต่อไป โดยค่อยๆย้อนกลับไปหารุ่นแรกตามแต่โอกาสที่จะหาได้ ซึ่งอาจใช้วิธีซื้อ หรือแลกเปลี่ยนกันกับญาติพี่น้องคนรู้จัก โดยการสอบถาม ท่านก็จะได้มาให้ราคาเท่าหน้าธนบัตรหรือบวกเพิ่มเล็กน้อย (โดยเฉพาะแบบ 12-14 ยังคงมีคนเก็บไว้อยู่จำนวนมาก ปัจจุบันคือแบบ15 ) เมื่อท่านมีครบทุกราคาในบางแบบแล้ว ท่านค่อยขยายการสะสม มาในเรื่องลายเซ็นต์ในแต่ละแบบแต่ละราคา ช่วงนี้จะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่ทำให้นักสะสมบางคนเลิก หรือมีกำลังใจมากขึ้น หรือลดคุณภาพในการสะสมลง(ลดสภาพจาก unc เป็น F((Fine สภาพพอใช้) เพราะติดปัญหาเรื่องงบประมาณ)
ทุกแบบ ทุกราคาล้วนจะมีตัวติดหรือใบที่หายาก ราคาสูงมาก นักสะสมควรใจเย็นรอคอยจังหวะ พยายามทำความรู้จักนักสะสม พ่อค้าให้มากที่สุดเท่าที่ท่านจะมีเวลาให้ ห้ามใจร้อนตรงรี่เข้าไปซื้อเด็ดขาด มิฉะนั้นท่านจะพบว่าท่านได้ของแพงมาโดยมิจำเป็น (ยกเว้นท่านมีเงินเหลือเฟือ สะสมเอามันส์ ) การที่ท่านใจเย็นสักพักท่านก็จะได้ของจากนักสะสมรุ่นเก่าที่เขาเบื่ออยากขายออกหรือมีความจำเป็นต้องใช้เงิน ราคาที่ได้จะไม่แพงเลย (เพราะคนขายสะสมมาตั้งแต่ราคาไม่แพง ขายออกตอนนี้เขาก็คิดว่าเขาได้กำไรมากโขแล้ว และได้ขายของให้นักสะสมที่รักในสิ่งเดียวกัน เขาและท่านย่อมพอใจทั้งคู่ ทั้งยังเป็นการสานสัมพันธ์ อันดีต่อกันในเรื่องอื่นที่จะตามมาในอนาคต


ขั้นท่องยุทธภพ

       1. ท่านก็จะพบว่ายังมีธนบัตรแบบแปลกๆที่ไม่มีในตำรามากมาย ทั้งปรู๊ฟ ทั้งตลก(แท้+ทำเองกะมือซะมาก) ท่านก็จะพอดูออกแล้วอฉบับไหนมีคุณค่าน่าสะสมหรือน่าเมินผ่านไป เพราะอ่านตำรายุทธมาอย่างดี +ได้พบจอมยุทธนักสะสมมาหลายท่าน

       2. ท่านก็จะพบว่ายังมีนักสะสมรุ่นโคตรเซียน เก็บตัวอยู่ มากมาย และนักสะสม มือใหม่ มือกลาง ทั่วทุกทิศทั่วไทย ท่านก็ควรจะต้องอัพเดทฝีการสะสมมือไปเรื่อยๆ ตามงบประมาณและจุดยืนที่ท่านตั้งใจไว้แต่แรก ห้ามก้าวข้ามจุดยืน มิฉะนั้น จะเกิดอาการธาตุไฟเข้าแทรกนะ ทั้งตังค์ในกระเป๋า เจอของแพง ของปลอมเหมือน ....จริง ชนิดที่ว่าเซียน+พ่อค้าเถียงกันไม่จบก็มี (พวกที่หาข้อยุติไม่ได้นี้ไม่ควรซื้อเข้าอย่างยิ่ง ยกเว้นได้มาฟรี ควรแค่ถ่ายรูปเก้บไว้ศึกษาจะดีกว่า)

       3. งานสะสมพวกนี้ถ้าท่านเล่นดีๆก็เสมือนหนึ่งเป้นการออมและลงทุนในระยะยาว เพราะราคาของเหล่านี้จะถูกผลักดันขั้นทุกๆ 5ปี (แต่อย่าลืมต้องคำนึงถึงค่าสูญเสียโอกาสในการลงทุนทางอื่นด้วย เช่น อัตราการลงทุนในทองคำให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10% ในรอบ 20ปีที่ผ่านมา คุ้มไหมกับที่ที่จะนำเงินมาลงทุนเพื่อเก็งกำไรในงานสะสมชิ้นนี้ หรือท่านซื้อธนบัตรใบนี้เข้าในราคาใด ณ.เวลานั้น ซึ่งควรจะซื้อในราคาต่ำกว่าคู่มือมากๆ จึงจะคุ้มค่า หลายท่านก็อาจสงสัยว่าแล้วจะทำได้หรือ ขอตอบว่า ทำได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนทุกเวลา ขึ้นกับโชควาสนาด้วย แต่การไปไล่ซื้อพ่อค้ามาเก้บนะส่วนใหญ่จะขาดทุนหมดทุกราย (เมื่อเทียบกับอัตราการลงทุนด้านอื่นๆ)


ขั้นเทพเก็บตัว
       
       ท่านจะเบื่อหน่ายเวลาเดินตลาดของสะสม เพราะมีจนไม่รุ้จะมีไปทำไมแล้ว ตัวติดยากๆก็คงไม่มีวันบบรรลุเช่น พวกเงินกระดาษหลวง หมายพระราชทานราคาชั่ง พวกนี้จะหายากมากๆ ท่านรุ้ไปหมดแล้ว ท่านก็จะเริ่มหางานสะสมชนิดอื่นมาทำ ส่วนของสะสมเก่าก็รอวันมอบสู่ลูกหลานในตระกูลคนที่ท่านโปรดปราน แต่จากประสบการณ์ที่พบ ส่วนใหญ่จะพบว่าลูกหลานมันดันไม่ใส่ใจขโมยไปขายแบบถูกๆซะเนี่ย กลับมาเปิดกรุดู อ้าว ตรู..เล่นมาทั้งชีวิต มันหอบไปเกลี้ยง 555+ กับอีกแบบทั้งยัดทั้งกราบให้ช่วยสืบทอดแต่กลับไม่มีใครสนใจ จึงจำเป็นต้องขายออกทอดตลาด ให้นักสะสมรุ่นใหม่ .. ถ้าท่านใดเจอประเภทหลังนี่นับว่าโชคดี แบบพระเอกในหนังจีนกำลังภายในเลย อยุ่ก็มีคนเอาวรยุท์+อาวุธตำรา มาถ่ายทอดให้ สบาย ไม่ต้องสะสมพลังวัตต์นานนับสิบปี เหมือนท่านอื่นๆ


นักสะสมจะต้องแบ่งการสะสมออกเป็น 4 ระดับ

       1. ระดับพื้นฐาน (Basic set ) คือ การสะสมธนบัตรให้ครบทุกแบบ และมีครบทุกราคาในแบบ โดยไม่จำเป็นต้องมีครบทุกลายเซ็นในแบบ(สะสมเฉพาะแบบ9-ปัจจุบัน) ยกตัวอย่างเช่น ธนบัตรแบบ 9 ราคา 1 บ. มีทั้งหมด 19ลายเซ็น ท่านก็อาจเลือกมา1ใบ มาจัดชุดคู่ราคา 5 10 20 100 บและ50สต. ให้ครบก็พอแล้ว

       2. ระดับกลาง( Medium Set) คือการสะสมคล้ายแบบ1 แต่ จะเพิ่มแบบ 1- 8 ลงไปด้วย และพยายามหาลายเซ็นให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ตามงบที่ตนเองมีอยู่ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องครบลายเซ็นต์

       3. ระดับสูง (Advance Set) คือ การสะสมแบบครบทุกแบบ ทุกราคา ทุกลายเซ็นต์รวมถึงหมวดคร่อมหมวดชนต่างๆ ในระดับนี้แต่ละท่านยังมีการแบ่งย่อยออกไปอีก ตามความพอใจและกำลังทรัพย์ เช่น สะสมธนบัตรที่ไม่ได้มีประวัติบันทึกว่ามีจำนวนพิมพ์เท่าใด มีการสั่งพิมพ์จริงไหม หรือแค่ของwaste product ของโรงพิมพ์ เช่น พวกธนบัตรตัวอย่างแบบ 1- 9 ที่ผู้เขียนพบข้อสังเกตบางประการ ว่าแตกต่างกันมาก ในรุ่นและราคาเดียวกัน ลายเซ็นต์เดียวกัน การสะสมหมวดเสริมให้ครบทุกราคาทุกลายเซ็นต์ การสะสมธนบัตรปลอมยุคเก่า

       4. ระดับผู้เชี่ยวชาญ (expert Set ) คือการสะสม แบบที่ 3 ควบคู่ไปกับการศึกษาเอกสารทางประวัติศาสตร์ต่างๆที่เกี่ยงข้องกับกระบวนการพิมพ์ธนบัตร เช่น จดหมายเหตุ บันทึกของบุคคล ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์ ธนบัตร ที่มาที่ไปของธนบัตรเก่าต่างๆ พวกนี้จะเน้นข้อมุลเชิงลึกทุกอย่างเชิงประวัติศาสตร์ พร้อมไปกับธนบัตรที่สะสม

       การสะสมระดับ 3 และ 4 นี้ ต้องมีความเข้าใจและทำใจให้ได้ว่าจะสามารถสะสมให้ได้มากที่สุดเท่านั้น ไม่มีทางที่จะสะสมให้ครบทุกอย่างตามคู่มือได้(หมายถึงมีทุกหมวดต้น หมวดชนเ ลขตองในทุกแบบทุกราคา หมายพระราชทาน ทุกราคา เงินกระดาษหลวง) ขอเน้นให้นักสะสมเข้าใจในจุดนี้ให้มาก เพราะหากต้องการสะสมระดับ3-4 ควรทำใจไว้ล่วงหน้า และต้องเข้าใจว่าท่านสะสม เป็นงานอดิเรก สะสมแล้วผ่อนคลาย มีความสุข หลายท่านอาจสงสัยว่า ถ้าไม่ครบชุดในระดับ3-4 แล้ว ทำไมคู่มือจึงต้องลงรายละเอียดทุกรุ่นทุกแบบที่ออก ขอเรียนชี้แจงว่า คู่มือนั่นผู้เขียนต้องการทำให้แบบมาตรฐานตามหลักวิชาการ สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาหาความรู้อย่างแท้จริง เพื่อให้วงการสะสมธนบัตรทั่วโลกนำไปอ้างอิงได้ ซึ่งรายละเอียดในคู่มือเหล่านั่นก็ได้จากของสะสมจากนักสะสมหลายๆท่านนำมารวมกัน จึงครบหรือเกือบครบ

       ฝากข้อคิดไว้ว่า? คุณค่าของสะสมไม่ได้อยู่ที่ของราคาแพง... แต่อยู่ที่ความสุขใจอันเกิดจากการได้เก็บรักษาของที่เรารัก?

การดูธนบัตรว่า Unc นั้น มีหลายวิธี แล้วแต่ใครจะใคร่ใช้ สำหรับเราจะใช้หลายแบบร่วมกัน ส่วนธนบัตรแบบมาทั้งแหนบ ก็อย่าเพิ่งมั่นใจนะว่า Unc เพราะอาจล้างมาทั้งแหนบก็ได้ โดยเฉพาะแหนบที่สายรัดแหนบเก่าไม่ตรงยุคนี่พึงระวัง พบได้มากในธนบัตรแบบ 9 ล้างกันมากเพราะมันคุ้มค่า วันนี้ง่วงแล้ว พรุ่งนี้จะอธิบายว่าการดูว่าธนบัตร UNC ทำอย่างไร ท่านอื่นมีวิธีอื่นก็ช่วย ๆ กันแนะนำมานะ จะได้ขยายความรุ้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นไป

การล้างทำได้ทั้งเหรียญ ธนบัตร และแสตม์ป น้ำยาที่ใช้อาจแตกต่างกันเท่านั้น จะไม่ลงรายละเอียดในสุตรน้ำยานะ เพราะเวปนี้เป็นสาธารณะ อาจมีผู้คิดฉ้อฉลเกิดนำไปใช้ (ปัจจุบันก้มีคนล้างเยอะอยู่แล้ว ไม่อยากให้มันมีคนล้างมากขึ้น)

แต่จะบอกวิธ๊สังเกตแทนนะ ว่าผ่านการล้างมาหรือไม่ ต่อให้ล้างเก่งแค่ไหนก็ดูออก ถ้าคุณไม่ใจร้อนค่อยสังเกตดู

       1. ธนบัตร ล้างแล้ว ทับให้เรียบสัก2-3วัน ก็ขายได้

       2. แสตม์ป จะล้างใน 2 กรณี คือใช้แล้วแต่มีสนิมหรือเหลือง ทำให้ขาว ดูมีราคา อันนี้ยังไม่น่ากลัวเท่า นำแสตม์ป ชุดแพงที่ยังไม่ใช้แต่ มีสนิม มาล้างแล้วทำกาวใหม่ มาขายในสภาพนอก นี่สิน่ากลัวมาก เพราะการล้างกาวออกก็เท่ากับคุณค่าแสตม์ปนั้นตกลงเหลือเท่าแบบใช้แล้ว

       3. เหรียญ นี่ จะล้างได้ทุกแบบ ยกเว้นเหรียญ พวก 2 สี เช่น สิบบาท เพราะ จะเกิดปฏิกิริยาออกชิเดชั่นและรีดักชั่นของเนื้อโละไม่เท่ากัน จะทำให้เนื้อส่วนผสมปนเปื้อนกันเละเทะ


ธนบัตรไม่ผ่านการใช้งาน (UNC) สังเกตได้อย่างไร

       นักสะสมหลายท่านต่างก็มีวิธีดูเฉพาะแบบ แต่วิธีที่จะนำเสนอต่อไปนี้ เกิดมาจากศึกษาค้นคว้าในเรื่องกระดาษ หมึกพิมพ์ เทคนิคการพิมพ์ ของแต่ละบ.ที่พิมพ์ธนบัตรในแต่ละยุค ซึ่งถ้าเราเข้าใจเรื่องพวกนี้ดีพอเราก็จะตัดสินใจได้เลยว่าธนบัตรแบบต่างๆที่นำมาเสนอขายนั้นUNC จริงหรือไม่โดยไม่ต้องไปถามใครให้ยุ่งยาก มาดูวิธีที่เข้าใช้กันท้องตลาดก่อน

       1. ธนบัตรไม่ผ่านการใช้งาน จะต้องมีสีออกขาวมอๆหรืออมเหลืองอ่อนๆตามยุคสมัยของกระดาษที่เก็บนาน ---- ไม่จริงเสมอไป เพราะธนบัตรบางฉบับไม่มีรอยพับก็จริงแต่เก็บรักษาไม่ดี มีคราบสนิมหนัก เขาก็ล้างด้วยน้ำยาสูตรเข้มข้น ผลคือ ธนบัตรจะขาววอกไป ก็ต้องมาทำการย้อมให้ออกขาวอมเหลืองมอ ๆ หน่อย ก็จะสวยปิ๊ง อัพราคาสูงลิบ ตรงนี้จุดนี้ถ้าเข้าใจแบบที่ศึกษามาปัญหานี้ก็จะหมดไป ยังไม่เฉลย ลองไปคิด ๆ กันดูก่อนว่าจะพิสูจน์อย่างไรว่าย้อมหรือไม่ แล้วจะมาเฉลย

       2. ธนบัตรไม่ผ่านการใช้งาน ต้องแข็งตึ้ก จับมาสะบัด ๆ จะดังพับ ๆ อันนี้ก็ไม่แน่ เพราะล้างแล้วทับ แล้วลงสารบางชนิด ก็แข็งตึ๊ก ๆ ผับๆๆเลย ถ้าใช้จุดนี้สังเกตก็ตกม้าตายมาหลายรายแล้ว อีกอย่างถ้าเป็นธนบัตร แบบ 1 4 (กรมแผนที่) 6 และ 7 ท่านไปจับสะบัดพึ่บ ๆ อาจเกิดการฉีกขาดตรงลายน้ำคลื่นได้ คราวนี้ละงานเข้า เจ้าของเขาต้องเรียกค่าเสียหายแน่ ๆ ส่วนแบบ 1 หน้าเดียว กระดาษบางอยู่แล้ว และเจ้าของเขาจะใส่ซองแข็ง 2 ชั้น ไม่ยอมให้ท่านดึงมาสะบัดแน่นอน เพราะใบหนึ่งว่ากันที่ หลักแสนถึงหลายล้านบาท

       3. ธนบัตรไม่ผ่านการใช้งาน สีต้องสดใส มีซีดจาง ขอบมุมไม่คมกริบไปนัก อันนี้จริง ถ้าขอบมุมคม 90 องศา นะตัดแต่งขอบมาชัวร์


คราวนี้มาดูวิธีนี้บ้าง

       1. ธนบัตรแบบ 1 หน้าเดียว จะพิมพ์แบบราบไม่มีเส้นนูน ใช้หมึกชนิดเดียวกับที่พิมพ์แสตมป์ ร.5 ชุด 2-3 คือโดนน้ำแล้วหมึกจะจางลง และไม่ทนต่อสารเคมีมากนัก ดังนั้น ถ้าท่านพบแบบที่สีซีดก็เป็นไปได้ 2 กรณีคือ ใส่กรอบโชว์ไว้นานโดนแสงเลีย กับทับน้ำมาให้เรียบ ธนบัตรแบบ 1 นั้นดูว่า Unc นั้นไม่ยาก แต่ดูว่าปลอมไหมนี่สิยาก เพราะมีการปลอมยุคเก่าจาก 2 ประเทศถ้าเป้นแบบผ่านการใช้มาแล้วจะดุยากพอสมควร

       2. ธนบัตรแบบที่ 2 - ปัจจุบัน จะพิมพ์โดยใช้ระบบหมึกกองนูน (Intaglio) ถ้าเป็นแบบ 2-9 นี่หมึกมันจะเงามากเพราะความร้อนชื้นในประเทศไทย เวลายกส่องพลิกเอียงทำมุม 30 องศาในแสงธรรมชาติจะเห็นเป็นเงาสะท้อนแสง ดังนั้นเวลาซื้อควรขอดูในแสงธรรมชาติเท่านั้น ถ้าท่านไปซื้อในร้านตามห้าง ก็ควรพกแว่นขยายชนิดที่มีไฟ LED*40 เท่าไปด้วยและพลิกมุมกล้องไปมา

       3. ความแข็งของธนบัตรและสีขอบ สีตัวธนบัตร ก็จะนำมาพิจารณาประกอบในอันดับท้ายๆ ด้วยเหตุผลที่กล่าวข้างต้น

       4. กระดาษที่ใช้พิมพ์ธนบัตร จะประกอบการพิจารณาเรื่องความแท้และสภาพของธนบัตรว่าผ่านการใช้งานมาหรือไม่ ซึ่งจะกล่าวในบทถัดไป ....


การซื้อธนบัตรเป็นแหนบหรือยกลูกควรพิจารณาดังนี้

       1. สายรัดธนบัตรในแต่ละแหนบควรเป็นของเดิม ถ้าเป็นของใหม่ให้พึงสันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจล้างมาทั้งแหนบ สีของสายรัดจะเหลือง+กระดาษกรอบ หรือขยับสายรัดดูจากตำแน่งเดิม ตำแน่งที่โดนสายรัดจะขาวกว่าตำแหน่งอื่นแสดงว่าสายรัดนั้นอยู่กับแหนบนั้นมานานเป็นของเดิม(มีเจ้าของบางคนเก็บรักษาดีก็มี แต่ยังไงสีของสายรัดมันจะอมเหลืองกว่าตัวธนบัตรแน่นอน เพราะ ธนบัตรทำจากฝ้ายหรือลินิน หรือมิตซูมาต้า(แบบ5) แต่กระดาษสายรัดทำจากเยื่อไผ่ 

       2. กรณีที่แหนบนั้นมีธนบัตรสภาพย่น ๆ ปน และขาวทั้งแหนบ ตีไปเลยว่าล้างมาแบบเอาเร็วขี้เกียจไล่ทับให้เนื้อกระดาษเรียบ คนขายจะอ้างว่าชื้นก็ไม่ต้องสนใจแล้ว

       3. พวกยกลูก 1000 ฉบับ นี่ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะจะอยู่ในกล่องกระดาษ (แบบ 2- 9) มีตราครั่ง + เชือกครบ เวลาซื้อขายจะผ่าด้านข้างกล่องให้เห็น พวกนี้มักขาวสวย เพราะมีกล่องกระดาษหุ้มมาก่อนแล้ว ถูกต้องแล้ว ถ้ายิ่งเป็นลูก (1000ฉบับเรียงเลข) ยิ่งแพงกว่าอีก เช่น 5บ.แบบ 9 ลายเซนต์ธรรมดา ราคาต่อใบ 100บ ราคา/แหนบ 12000บ ราคาต่อลูก 230000 บ จะเห้นว่าราคาจะก้าวกระโดด ราคานี้คือราคาพ่อค้าขายให้นักสะสมนะ แต่ถ้าเอาเงิน แสนสองแสนไปทำอย่างอื่นดีกว่า ยังทำประโยชน์ได้มากกว่ามาซื้อของพวกนี้ ไว้รวยๆแล้วมีเงินเหลือๆสักหมื่นล้านค่อยมาซื้อดีก่า ราคาธนบัตรเพิ่งมาแรงในช่วงหลังปี 40 นี่เอง แต่ก่อน F12 ป-เดช ใบละ13000บ คนยังเมินเลย การเก็บธนบัตรควรเก้ยราคาตำสดีกว่า เพราะจะมีราคามากกว่า เช่น ราคา 1 บ -20 บ ราคาสูง ยากที่จะคุ้ม ยกเว้นคุณจะมีอายุเกิน 100 ปีถึงจะเห้นผลแบบหนัก ๆ ส่วน 100 บโทมัส จะคุ้มก็เห้นมีอยุ่แค่ 2ใบ คือ B60 97 เท่านั้น ที่พอจะให้ผลสูสีกับทองได้ แต่ถามว่าใครในเวลานั้นจะรุ้ล่วงหน้าว่ามันจะมีหมวดเดียวหรือ 0.1หมวด มันอาศัยโชควาสนาเสียมากกว่า เน้นเสมอว่า ถ้าเน้นเล่นธนบัตรแบบเก็งกำไร ไม่คุ้มหรอก เจ็งกับเจ๊าเท่านั้น ถ้าเก็บแบบสนุกแบบศึกษาไปด้วยน่าจะดีกว่า การหวงัว่าเราจะมีตัวแพง ทำกำไรได้เวลาขายออก วงการนี้ยังแคบมากในเมืองไทย นี้ 10 บ 20 บหน้าหนุ่ม แค่หาสวย ๆ 1ใบยังยากเลย นับคุณโชคดีมาก ๆ ของสะสมนี่คนชอบแค่ได้เห้นมันก็มีความรุ้สึกปลาบปลื้มมีความสุขแล้ว 

       สมัยก่อนเคยเจอนักสะสมรุ่นเก่ามากๆคนหนึ่ง ก็ไม่ได้ตั้งใจไปซื้อธนบัตรหรอก ตอนนั้นแค่บ้าแสตม์ป ไปบ้านท่านคุยกันไปมาท่านก็ปรารภว่าไม่มีผุ้สืบทอด ลูกก็มีแต่โมมยไปขายแบบถูกไม่รุ้ค่า เพราะติดการพนัน ช่างน่าสงสาร ท่านพาเข้าชมห้องเก็บของสะสมบางห้องของท่าน ใหญ่มาก ๆ ละลานตาจริง ๆ เรียกว่าถ้าดูกัน ปีหนึ่งก็ไม่หมด หลายพันอัลบั้ม หลายร้อยกล่องพลาสติกแบบใหญ่ ท่านยกมาให้เราดูเปิดไปเรื่อย ๆ ได้พวก แบบ 1-2 5 มาเยอะพอควร เสียดายตอนนั้นไม่มีเงินพอจะซื้อท่าน ทั้งหมด ก็ได้แค่เลือกๆมา มันมีความสุขมากตอนนั่งดูไปแต่ ๆ อัลบัม เวลา 1วัน ที่ไปหาท่านช่างหมดไปอย่างรวดเร็ว



ขอขอบคุุณข้อมูลจาก
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1636824596536906&id=1636677149884984&substory_index=0


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น