วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ธนบัตรที่ระลึก 50 ปี แห่งการครองราชย์



          ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลความรู้ ธนบัตรที่ระลึกฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทุกจุดบนธนบัตรล้วนมีความหมาย

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นแบบอย่างของมหาราชกษัตริย์ ด้วยพระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอย่างมากมายมหาศาลทั่วทุกสารทิศ นับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 จึงทำให้พระองค์กลายเป็นศูนย์รวมจิตใจและที่สรรเสริญยกย่องของประชาชนทุกหมู่เหล่า ดังนั้นที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้จัดพิมพ์ธนบัตรที่ระลึกเพื่อเฉลิมพระเกียรติอยู่หลายครั้ง

          หนึ่งในนั้นคือ ธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ที่จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2539 เพื่อเป็นสิ่งย้ำเตือนให้ประชาชนได้ระลึกถึงพระราชกรณียกิจและพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ซึ่งเฟซบุ๊ก ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้นำข้อมูลธนบัตรที่ระลึกชนิดนี้มาเผยแพร่ให้ทราบกันว่า ส่วนประกอบแต่ละจุดของธนบัตรนั้นล้วนมีความหมายอันลึกซึ้งและยิ่งใหญ่ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับธนบัตรที่ระลึกในรัชสมัยรัชกาลที่ 9


          ธนบัตรที่ระลึกแบบพิเศษ ชนิดราคา 500 บาท เริ่มจ่ายแลกเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2539 จำนวน 1,000,000 ฉบับ ทุกฉบับมีเลข 50 นำหมวดเลขหมาย ซึ่งหมายถึง 50 ปีแห่งการครองราชย์ และเป็นธนบัตรที่มีการพิมพ์บนวัสดุโพลีเมอร์เป็นครั้งแรก


          ผนึกฟอยล์สีทองพระบรมฉายาทิสลักษณ์ ล้อมรอบด้วยพื้นที่ใสซึ่งมองทะลุผ่านได้ โดยปริมณฑลหลังพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์จะเปลี่ยนสีสะท้อนแสงวาววับเมื่อพลิกธนบัตรไปมา เรียกว่า Optically Variable Device (OVD) นับเป็นครั้งแรกที่นำมาใช้เพื่อเพิ่มความสวยงามและเป็นลักษณะพิเศษต่อต้านการปลอมแปลง ความสุกสว่างของ OVD สีทอง สื่อความหมายแห่งพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ภายในเนื้อวัสดุ มีรูปตราจักรีซ่อนอยู่ที่เบื้องขวาของพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ มองเห็นได้ทั้งสองด้านเมื่อยกธนบัตรขึ้นส่องดูกับแสงสว่าง



          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงถือว่า การดูแลทุกข์สุขของราษฎรทั่วราชอาณาจักรเป็นพระราชภาระที่สำคัญ ในการเสด็จทรงงานแต่ละครั้ง พระองค์จึงทรงใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อบันทึกข้อมูลและติดตามสถานการณ์ ได้แก่ แผนที่ ดินสอ กล้องถ่ายรูป และวิทยุสื่อสาร

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีความเชื่อมั่นว่า เมื่อใดที่สามารถแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนในเรื่องน้ำเพื่อการบริโภคและอุปโภคแล้ว เมื่อนั้นราษฎรย่อมจะมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม พระองค์จึงโปรดให้จัดตั้งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศเกือบพันโครงการ



         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงริเริ่มให้มีการพัฒนาที่ดินว่างเปล่าเพื่อจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่ขาดแคลนที่ดินทำกิน รวมทั้งโปรดให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเพื่อหาวิธีการเพาะปลูกให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ทรงเน้นให้เพาะปลูกพืชที่เป็นที่นิยมของตลาด เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของท้องถิ่น ควบคู่กับการเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคและจำหน่ายเป็นรายได้เสริม

          ด้วยพระองค์ทรงตระหนักถึงปัญหาความเสื่อมโทรมของผิวดิน จึงมีพระราชดำริในการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝก ทำให้สามารถใช้ที่ดินนั้นทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ได้ ทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำด้วย และเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2536 ธนาคารโลกได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลรากหญ้าแฝกชุบทองสำริด ซึ่งเป็นรางวัลสดุดีพระเกียรติคุณในฐานะผู้อนุรักษ์ดินและน้ำดีเด่น



          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงริเริ่มโครงการหลวงเมื่อ พ.ศ. 2512 ทรงใช้พระราชทรัพย์สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาพื้นที่ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่สูงของภาคเหนือ รวมถึงชาวเขา กล่าวได้ว่า โครงการหลวงทำให้ประชาชนที่อาศัยในที่สูงเลิกปลูกฝิ่น มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง รวมทั้งมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตทางเกษตรกรรม เช่น ไม้ดอกไม้ผลเมืองหนาว

          นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงตระหนักถึงพิษภัยจากมลภาวะโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องน้ำเสีย จึงทรงคิดค้นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย และพระราชทานชื่อว่า "กังหันน้ำชัยพัฒนา" โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 สภาวิจัยแห่งชาติได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลที่ 1 ในประเภทผลงานคิดค้นหรือสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติประจำปี 2536 และทางราชการได้กำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น "วันนักประดิษฐ์" อีกด้วย



ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
ธนาคารแห่งประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น