วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เหรียญในหลวงนั่งบังลังค์ เนื้อทองคำขัดเงา ปี 2539 กระทรวงมหาดไทย เหรียญยอดนิยม





     เหรียญในหลวงนั่งบัลลังค์ ฉลองครองราชย์ 50 ปี พ.ศ. 2539 เนื้อทองคำขัดเงา น้ำหนัก 15.2 กรัม ด้านหลังเป็นตราตรีจักร กว้างประมาณ 2.4 ซ.ม. สูง 4.0 ซ.ม. จัดสร้างโดยกระทรวงมหาดไทย ปี 2539

     เหรียญยอดนิยมนี้จัดสร้างจำนวนมาก แต่หายากมาก และที่สำคัญเหรียญสวยๆยิ่งหายากมากครับ

     เหรียญเสมาที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวันที่ 5ธันวาคม2539 และเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ50 ปีกาญจนาภิเษกเป็นเหรียญยอดนิยมอีกเหรียญหนึ่งที่นับวันจะหายากและในอนาคตจะมีมูลค่าเพิ่มยิ่งขึ้น ควรคู่แก่การครอบครองและมีไว้สักการะบูชา





ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก http://thaigoldcoin.com

พระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ ปวเรศ รุ่น 2 ปี2530 ยอดนิยม วัดบวรนิเวศวิหาร เนื้อกลับดำ












     พระกริ่งปวเรศและพระชัยวัฒน์ ปี 30 (พระกริ่งปวเรศ รุ่น 2) นี้จัดว่าเป็นสุดยอดพระกริ่งของวงการพระเครื่องก็ว่าได้ สร้างที่วัดบวรนิเวศวิหาร ในปี พ.ศ.2530 เนื่องจากทางวัดได้รับพระราชานุญาต ให้จัดสร้างขึ้น เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ในหลวงทรงเจริญพระชนม์พรรษาครบ ๕ รอบ 60 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเสด็จพระราชดำเนิน ประกอบพิธีเททองหล่อปฐมมหามงคลฤกษ์ ณ บริเวณพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2529 พระกริ่งปวเรศ ปี30 และพระชัยวัฒน์ทีสร้างขึ้นด้วยวิธีหล่อแบบโบราณนี้ จะได้องค์พระที่ไม่สวยคมชัดไปทั่วทั้งหมด ผิวพระที่ได้จากการหล่อจะมีรูพรุน มากบ้าง น้อยบ้าง จึงต้องทำการตกแต่งด้วยตะไบ ซึ่งทางวัดได้จัดสถานที่และคณะช่างที่จะทำการตกแต่งพระ รวมทั้งการบรรจุ เส้นพระเจ้าของของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผงจิตรลดาที่ได้รับพระราชทาน และบรรจุเม็ดกริ่ง ภายในวัดทั้งหมดทุกขั้นตอน โดยห้ามนำพระกริ่งออกจากสถานที่โดย เด็ดขาดและมีการตรวจตราอย่างเข้มงวดอีกด้วย

พิธีพุทธาภิเษกพระกริ่งปวเรศและพระชัยวัฒน์ ปี 30

     ครั้งที่ 1 วันเสาร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ.2529 ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร โดยมี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเป็นองค์ประธานในพิธี และสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานพิธีอธิษฐานจิต มีพระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายรูปร่วมนั่งปรกอธิษฐานจิต

     ครั้งที่ 2 พิธีวันวิสาขบูชา วันพุธที่ 21 และวันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2529 ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระญาณสังวร เป็นประธานในพิธี

     ครั้งที่ 3 พิธีพุทธาภิเษกอย่างเป็นทางการ ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงเป็นองค์ประธานในพิธี สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์) วัดราชบพิธฯ ทรงจุดเทียนชัย สมเด็จพระญาณสังวร เป็นประธานพิธีอธิษฐานจิต ร่วมกับพระภาวนาจารย์อีก 36 รูป จากภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ร่วมนั่งปรกอธิษฐานจิต อาทิเช่น หลวงปู่สิม แห่งถ้ำผาปล่อง, หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง, หลวงพ่ออุตตมะ วัดวังก์วิเวการาม, หลวงพ่อพุธ วัดป่าสาละวัน, หลวงพ่อเกตุ วัดเกาะหลัก, หลวงพ่อพรหม วัดขนอนเหนือ, หลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง, หลวงพ่อหยอด วัดแก้วเจริญ, หลวงพ่อพูล วัดไผ่ล้อม และ หลวงพ่อแช่ม วัดดอนยายหอม เป็นต้น นับเป็นเป็นสุดยอดพระเครื่องคู่บ้านคู่เมืองที่ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินเททอง ใต้ฐานบรรจุเม็ดกริ่ง,ผงจิตรลดา และเส้นพระเจ้า (เส้นผม) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว





ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก http://www.akefuture.com/know_detail.asp?id=28
และ http://thaigoldcoin.com

เหรียญที่ระลึกมหามงคลเฉลิมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542







     เหรียญที่ระลึกมหามงคลเฉลิมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 ทองคำ 7.5 กรัม หายาก ผลิตไม่เกิน 5,000 เหรียญ มีกล่องและใบเซอร์ เนื้อโลหะทองคำ ร้อยละ 90 เส้นผ่าศูนย์กลาง 21 มิลลิเมตร

     เหรียญที่ระลึกทองคำในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2542 หรือที่เราเรียกเหรียญนี้ว่า เหรียญทรงหมวก เป็นเหรียญที่หายากอีกเหรียญหนึ่งที่นานๆ จะได้เจอซักเหรียญ





ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก http://thaigoldcoin.com

พระกริ่งไพรีพินาศ นวปทุม ภปร. เนื้อนวะโลหะ ปี 2535 ในหลวงเททอง พระสังฆราชอธิฐานจิต







     ทางคณะกรรมการได้ดำเนินการจัดสร้างขึ้นเพื่อมอบแก่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคสมนาคุณ “มูลนิธิศาลาพระราชศรัทธา” ซึ่งแนวความคิดในการจัดสร้าง “พระกริ่งนวปทุม” นี้มีความสอดคล้องกับนามวัดคือ “ปทุมวนาราม” จึงนำต้นแบบมาจาก “พระกริ่งพระปทุม”  หรือ “พระกริ่งใหญ่ของจีน” ที่ “พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์” แห่งพระราชอาณาจักร “ขอม” ในอดีตกาลได้ทรงสร้างไว้เป็นปฐมและโดยเหตุที่ท่านเจ้าประคุณ “สมเด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศนเทพวราราม” เคยทรงมีพระกระแสรับสั่งว่า “การสร้างพระกริ่งของพระองค์ได้แบบอย่างมาจาก “พระกริ่งปทุมสุริยวงศ์” คือมีพระพุทธลักษณะประทับนั่งปางมารวิชัยบนฐานบัวคว่ำบัวหงายพระหัตถ์ซ้ายทรงวชิราวุธ”

     .........คณะกรรมการจึงได้นำเอาแบบอย่างการสร้างพระกริ่งของ “วัดสุทัศน์ฯ” ตามกรรมวิธีของท่านเจ้าประคุณ “สมเด็จพระสังฆราชแพ” มาสร้าง “พระกริ่งนวปทุม” ครั้งนี้กล่าวคือ “เนื้อโลหะ” ที่จะหล่อหลอมเป็นองค์กำเนิดมาจากแผ่น “พระยันต์ ๑๐๘” และ “นะปถมัง ๑๔ นะ” ประกอบพิธีกรรมลงอักขระบนแผ่นยันต์ครบถ้วนตามโบราณประเพณีดั้งเดิม ทุกประการ

     ส่วนมูลเหตุแห่งการเพิ่มจำนวน “บัว” ที่ฐานบัวคว่ำบัวหงายก็เป็นเพราะ  “พระกริ่งปทุมสุริยวงศ์” ในสมัย “พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์” มี “บัวคว่ำบัวหงาย” เพียง “๗ คู่” ดังนั้นจึงเพิ่มบัวให้ “พระกริ่งนวปทุม” เป็น “๙ คู่” โดยมีเหตุผล  “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช” ทรงเป็น “พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙” และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทาน   “พระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร.” ดังกล่าวมาแล้วจึงได้เพิ่ม “บัวคว่ำบัวหงาย” ขึ้นอีก “๒ คู่” เป็น “๙ คู่” และถวายพระนามพระกริ่ง ว่า “พระกริ่งนวปทุม ภ.ป.ร.” ซึ่งสอดคล้องกับนามของ “วัดปทุมวนาราม” จึงนับเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง..... และจากที่ล้นเกล้าฯ “พระบาทสม เด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ ๔  ได้พระราชทานการสถาปนา “วัดปทุมวนารามฯ”

     ทางคณะกรรมการฯจึงมีมติให้จำลอง “พระไพรีพินาศ” ที่ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๔ ทรงนับถือนี้ในรูปแบบ “พระกริ่ง” และขอพระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร.” ประดิษฐานไว้ที่ฐานด้านหน้าเป็นนิมิตมงคลอันสูงสุดและนับเป็น “ครั้งแรก” ในประวัติการสร้าง “พระเครื่อง” ในรูปแบบของ “พระไพรีพินาศ” ที่ล้นเกล้าฯ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช” ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯพระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร.” ในการประดิษฐาน ณ ฐานด้านหน้าองค์ “พระกริ่ง”

     โดยบันทึกของวัดปทุมวนารามฯระบุว่าเป็น

     “พระกริ่งไพรีพินาศ ภปร.รุ่นแรกของประเทศไทย” ที่มีการจัดสร้างถึง “๓ เนื้อ” คือ

          1.เนื้อทองคำ สร้างตามจำนวนสั่งจอง
          2.เนื้อเงิน สร้างจำนวน ๓,๐๐๐ องค์
          3.เนื้อนวโลหะ สร้างจำนวน ๓,๐๐๐ องค์

     นอกจากนั้นทั้ง “พระกริ่ง-พระชัยวัฒน์นวปทุม ภปร.” และ “พระไพรีพินาศ ภปร.” ยังได้มีการ “ตอกโค้ด” กันการปลอมแปลงโดยตอกไว้ที่องค์พระทุกองค์และทุกเนื้อ.......

     ...........พิธีใหญ่มาก ๆ ...ตามข้อมูลที่ได้มาจากเว็บเพื่อนบ้าน ดังนี้
     "....วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕ อันเป็นเวลาก่อนที่ล้นเกล้าฯ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช” เสด็จ พระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเททองในเวลา ๑๗.๐๐ น. จำแนกเป็นทองคำบริสุทธิ์ ๑๐๐% คิดเป็นน้ำหนัก ๑๒๕.๒ บาท ทองคำชนิดบริสุทธิ์ ๙๐% คิดป็นน้ำหนัก ๒๙.๔ บาท และทองเค (๑๘ k) คิดเป็นน้ำหนัก ๒๖.๖ บาท จึงนับว่า “หลวงพ่อพระเสริมภ.ป.ร.” มีส่วนผสมที่เป็น “ทองคำ” ซึ่งมีความบริสุทธิ์เป็นเปอร์เซ็นต์สูง มาก นอกจากนี้ยังมีผู้มีจิตศรัทธานำ “เงินบริสุทธิ์, ทองแดง, ทองเหลือง, ขันลงหิน” อีกเป็นจำนวนมากมาร่วมหล่อเป็นองค์ “หลวงพ่อพระเสริม ภปร.” ที่แสดงให้เห็นถึงการ “ไม่แบ่งแยกชนชั้น” ไม่ว่าจะยากดีมีจนทุกคนมีสิทธิได้ร่วม “โดยเสด็จพระราชกุศล” สร้างพระพุทธปฏิมา “หลวงพ่อพระเสริม ภปร.” เป็นพระประธานประจำ “ศาลาพระราชศรัทธา” ทางด้านการจัดพิธีมหาพุทธาภิเษกท่านเจ้าพระคุณ “สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก” เสด็จเป็น องค์ประธานในพิธีเบิกพระเนตรพระพุทธปฏิมา “หลวงพ่อพระเสริม ภปร.” ภายหลังจากช่าง ได้ทำการตกแต่งเสร็จแล้วนับตั้งแต่ล้นเกล้าฯ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราช” ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราช ดำเนินทรงประกอบพิธีเททองเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕ แล้ว ในครั้งนี้คณะกรรมการได้จัดให้มีการประกอบพิธีมหาพุทธาภิเษก“หลวงพ่อพระเสริม ภปร.” พระพุทธปฏิมาเป็นพระประธานประจำศาลาพระราชศรัทธาแล้วยังประกอบด้วย “หลวงพ่อพระเสริม ภปร.” ขนาดบูชา ๙ นิ้ว ๕ ฟุต “พระกริ่งนวปทุม ภปร., พระชัยวัฒน์นวปทุม ภปร., พระกริ่งไพรีพินาศ ภปร., พระผงหลวงพ่อพระเสริม ภปร.” และพิธีชัยมังคลาภิเษกเหรียญพระรูปเหมือน “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ภปร.”

     ในวันอังคารที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ณ มณฑลพิธีศาลาพระ ราชศรัทธาวัดปทุมวนาราม เวลา ๑๖.๓๐ น. และ ในเวลา ๑๗.๐๙ น. “สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ” เสด็จไปยังตู้เทียนชัย ทรงเจิมเทียนชัย ทรงจุดเทียนชัย จากนั้นเสด็จฯ ไปทรงเจิมเทียนพระพุทธมหามงคล ทรงโปรยข้าวตอกดอกไม้ที่พระเครื่องในราชวัตรฉัตรธง บัณฑิตอาราธนาพระปริตรพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๑๐ รูป เจริญพระพุทธมนต์ตามรายนามดังต่อไปนี้

          ๑. สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินตกาโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
          ๒. สมเด็จพระพุทธชินวงศ์(สุวรรณ สุวัณณโชโต)วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
          ๓. พระญาณวโรดม (สันตังกุโร) วัดเทพศิรินทราวาส ภายหลังได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็น “สมเด็จพระญาณวโรดม”
          ๔. พระธรรมธีรราชมหามุนี (วิลาส ญาณวโร) วัดยานนาวา ภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระพรหมโมลี”
          ๕. พระธรรมธัชมุนี (ประจวบ กันตจาโร) วัดมกุฏกษัตริยาราม ภายหลัง ได้รับพระราชทานสมณศักด์เป็น “พระธรรมปัญญาจารย์” และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ “สมเด็จพระพุทธชินวงศ์”
          ๖. พระธรรมบัณฑิต วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี
          ๗. พระเทพมุนี วัดบพิตรพิมุข
          ๘. พระเทพปัญญาเมธี วัดไตรมิตรวิทยาราม ภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระพรหมเวที”
          ๙. พระกิตติสารกวี วัดปทุมวนาราม
          ๑๐. พระญาณเวที วัดปทุมวนาราม

     จากนั้น “สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ” ทรงประทับพิงอธิษฐานจิตเจริญภาวนาและเสด็จกลับในเวลา ๑๘.๐๙ น. บัณฑิตและคณะนิมนต์ “พระเกจิอาจารย์” พร้อม “พระภาวนาจารย์” ผู้ทรง วิทยาคุณจำนวน “๑๔๒ รูป”

     ผู้เขียนจึงคัดเอาเฉพาะรายนามพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือในขณะนั้นมานำเสนอ ดังนี้

          1. พระเทพเมธี (บุญนาค) วัดเศวตฉัตร กทม.
          2. หลวงปู่ วิริยังค์ สิรินธโร วัดธรรมมงคล
          3. หลวงปู่หลอด ปโมทิโต วัดสิริกมลาวาส กทม.
          4. พระอาจารย์มหาถาวรจิตตถาวโร วัดปทุมวนาราม
          5. พระครูวิเศษภัทรกิจ (ทองใบ) วัดสายไหม จ.ปทุมธานี
          6. หลวงปู่บุดดาถาวโร วัดกลางชูศรีเจริญสุข จ.สิงห์บุรี
          7. พระครูธรรมจักรชโยดม (หลวงปู่ผล) วัดดักดะนน จ.ชัยนาท
          8. พระครูวิชัยประสิทธิคุณ (หลวงพ่อเชิญ) วัดโคกทอง
          9. พระครูภัทรกิตโกศล (หลวงพ่อหวล) วัดพุทไธศวรรย์ จ.พระนครศรีอยุธยา
          10. พระครูสันติสุวรรณกิจ (หลวงปู่ดี) วัดพระรูปสุพรรณบุรี
          11. พระครูสุจิณธรรมวิมล (หลวงปู่ม่น) วัดเนินตามาก จ.ชลบุรี
            ฯลฯ                 เป็นต้น     

     “แผ่นทองลงอักขระ” ที่ได้รับการอธิษฐานจิตปลุกเสกจากท่าน “เจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต วัดเทพศิรินทร์ , หลวงปู่ดู่วัดสะแกอยุธยา , หลวงพ่อเนื่องวัดจุฬามณีสมุทรสงคราม”

     จากนั้นยังมีแผ่น “ทอง นาก เงิน” ที่ลงอักขระยันต์โดย “พระเกจิอาจารย์รูปสำคัญ ๆ” ทั่วประเทศอีก “๑๐๘ รูป” รวมทั้งแผ่น “ทอง นาก เงิน” ที่ลงอักขระเลขยันต์โดย “พระครูปลัดสมคิด กิตฺติสโร วัดราชสิทธิราม” (วัดพลับ) อีก “๑๐๘ แผ่น” ซึ่งเป็นอักขระเลขยันต์สำหรับหล่อ “พระกริ่ง” ตามตำราของ “สมด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศน์ฯ

     จัดสร้างโดย พล.ต.อ. วิสิษฐ เดชกุญชร เพื่อสมนาคุณผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินสมทบทุนก่อสร้าง “ศาลาพระราชศรัทธา” และ ก่อตั้ง “มูลนิธิศาลาพระราชศรัทธา” เพื่อให้แล้วเสร็จและจะได้ทำการอบรมปฏิบัติธรรมถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในพระราชวโรกาส เฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 1 – 9 ธันวาคม พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสด็จฯ ทรงเททองหล่อ “หลวงพ่อพระเสริม จำลอง ภ.ป.ร.” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ.2535 คณะกรรมการฯ ได้ประกอบพิธีมหาพุทธาภิเษกทั้ง “โลหะ” และ “ผงพุทธคุณ” แล้วจึงมอบให้ช่างนำไปจัดสร้างวัตถุมงคล ณ มณฑลพิธีวัดปทุมวนารามฯ ในวันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2535 โดยมีท่านเจ้าคุณ “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์” วัดนรนาถสุนทริการาม เป็นองค์ประธาน และมีพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 10 รูป มาร่วมเจริญพุทธมนต์



ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก http://thaigoldcoin.com

เหรียญสมเด็จพระสุริโยทัย หลังพระนามาภิไธย สก เนื้อทองคำ สร้างปี พ.ศ. 2538









     เหรียญสมเด็จพระสุริโยทัย หลังหลังพระนามาภิไธย สก เนื้อทองคำ สร้างปี พ.ศ.2538 สมเด็จพระราชินี โปรดเกล้าให้สร้างขึ้น

     ขนาด 3 ซ.ม. น้ำหนัก 18 กรัม กองกษาปณ์กรมธนารักษ์ จัดสร้าง โดยนำเงินรายได้สมทบทุนก่อสร้างและบำรุงรักษาพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช บริเวณทุ่งภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ต่อเนื่องกับทุ่งมะขามหย่อง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้ก่อสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย

     สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ต้องพระราชประสงค์ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ดำเนินการจัดสร้าง เหรียญที่ระลึกสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและเหรียญที่ระลึกสมเด็จพระศรีสุริโยทัย รวม 4 ชนิด คือ เนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อนวโลหะ และเนื้อทองแดง เพื่อให้ประชาชนโดยทั่วไปได้เช่าสักการะบูชา โดยนำเงินรายได้สมทบทุนก่อสร้างและบำรุงรักษาพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช บริเวณทุ่งภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ต่อเนื่องกับทุ่งมะขามหย่อง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้ก่อสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย

     ประวัติสมเด็จพระศรีสุริโยทัย

     สมเด็จพระศรีสุริโยทัย หรือ พระสุริโยทัย วีรสตรีไทยสมัยอยุธยา เป็นอัครมเหสีใน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิหรือพระเฑียรราชา พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๑๕ ของกรุงศรีอยุธยาราชวงศ์สุพรรณภูมิ พระสุริโยทัย ตามพงศาวดารหลวงประเสริฐฯ กล่าวเพียงแค่เป็นอัครมเหสีผู้เสียสละพระชนม์ชีพเพื่อปกป้องพระราชสวามี ในสงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ ในปี พ.ศ. ๒๐๙๑ พงศาวดารบางฉบับ กล่าวว่า พระสุริโยทัย เป็นเจ้านายเชื้อสายราชวงศ์พระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย

     เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๑ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และพระมหาอุปราชาบุเรงนองยกกองทัพพม่ารามัญเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก โดยผ่านมาทางด้านด่านพระเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรีและตั้งค่ายล้อมพระนคร การศึกครั้งนั้นเป็นที่เลื่องลือถึงวีรกรรมของ สมเด็จพระศรีสุริโยไท ซึ่งไสช้างพระที่นั่งเข้าขวางพระเจ้าแปรด้วยเกรงว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระราชสวามี จะเป็นอันตราย จนถูกพระแสงของ้าวฟันพระอังสาขาดสะพายแล่งสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง เพื่อปกป้องพระราชสวามีไว้ เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๔ ปีจุลศักราช ๙๑๐ ตรงกับวันเดือนปีทางสุริยคติ คือ วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๐๙๒ เมื่อสงครามยุติลง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ทรงปลงพระศพของพระนางและสถาปนาสถานที่ปลงพระศพขึ้นเป็นวัด ขนานนามว่า วัดสบสวรรค์ หรือวัดสวนหลวงสบสวรรค์ (ข้อมูลบางส่วนจาก http://th.wikipedia.org)





ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก  http://thaigoldcoin.com

เหรียญพระมหาชนกชุดทองคำใหญ่ (เนื้อทองคำ นาค เงิน) ครบชุด








 
  เหรียญพระมหาชนกเป็นเหรียญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะกำลังทรงงาน และด้านหลังเป็นรูปพระมหาชนกกำลังว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทร เหรียญพระมหาชนกจะแบ่งออกเป็นจำนวนพิมพ์ ดังนี้

        1. เหรียญพระมหาชนกชุดใหญ่ จะแบ่งออกเป็น เนื้อทองคำ หนัก 34 กรัม เนื้อเงินหนัก 23 กรัม เนื้อนากหนัก 24 กรัม และหนังสือพระมหาชนกเล่มสีน้ำเงินปกแข็ง

        2. เหรียญพระมหาชนกเนื้อเงิน พิมพ์ใหญ่ จะแบ่งออกเป็น เนื้อเงินใหญ่ กับหนังสือพระมหาชนกเล่มสีแดงปกแข็ง

        3. เหรียญพระมหาชนกชุดเล็ก จะแบ่งออกเป็น เนื้อทองคำ หนัก 9.3 กรัม เนื้อเงิน หนัก 7 กรัม เนื้อนากหนัก 7 กรัม และหนังสือพระมหาชนกเล่มเล็กปกแข็ง(กล่องสีน้ำเงิน)

        4. เหรียญพระมหาชนกเนื้อเงิน พิมพ์เล็ก จะแบ่งออกเป็น เนื้อเงินเล็ก กับหนักสือพระมหาชนกเล่มเล็กปกอ่อน(กล่องสีแดง) ปีที่ผลิตจะเป็นปี 2539

     สำหรับเหรียญนั้น  ด้านหนึ่งเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระอิริยาบถที่มีหยาดพระเสโทที่พระนาสิก  เขียนข้อความ "วิริยะ  PERSERVERANCE"  และอักษาเทวนาครี  อีกด้านหนึ่ง เป็นภาพพระมหาชนกในมหาสมุทรขณะทรงสนทนาธรรมกับนางมณีเมขลา ซึ่งปั้นจากต้นแบบภาพฝีพระหัตถ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์
   
     เหรียญเหล่านี้ได้ผ่านพิธีชัยมังคลาภิเษกที่วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นประธานนั่งปรก พร้อมด้วยพระคณาจารย์อีกหลายรูป อาทิ หลวงตามหาบัว ญาณสังปันโน, หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ แห่งวัดบ้านไร่ หลวงพ่อเปิ่นวัดบางพระ, หลวงพ่อแย้ม วัดตะเคียน

     ในพิธีดังกล่าว สมเด็จพระสังฆราชตรัสว่า "ไทยเราในขณะนี้แม้เปรียบกับพระมหาชนก ย่อมมีอันตรายเบากว่ามากมายนัก วิกฤตก็แตกต่างกัน แต่สามารถบำเพ็ญวิริยบารมีให้เกิดผลสำเร็จอย่างวิเศษยิ่งได้เช่นเดียวกัน ขอให้ตั้งใจแผ่ความปรารถนาดีไปให้ทั่วถึงเพื่อนร่วมทุกข์ทั่วหน้าให้สามารถคิดถึงอนุภาพความเพียร คือวิริยบารมี แล้วทุ่มกำลังกายกำลังใจ ให้สามารถประคับประคองประเทศชาติให้พ้นวิกฤตการณ์ขณะนี้ให้ได้และโดยเร็ววิริยบารมีสำคัญ และพลังจิตสำคัญและสำคัญสำหรับนำมา ประคองวิริยบารมีให้เกิดผลเต็มที่ด้วย นั่นคือให้มีกำลังใจเข้มแข็งเต็มที่ ที่จะพยายามทำแต่ความดี วิริยะในการทำดีเท่านั้นที่จะถูกที่จะให้ พ้นทุกข์ทั้งหลายได้ สมเด็จพระบรมศาสดาทรงกล่าวไว้ว่า โลกถูกจิตนำไป ถูกจิตชักไป สัตว์ทั้งปวงไปสู่อำนาจแห่งจิตอย่างเดียว เพราะฉะนั้นพึงตั้งเพียรทำใจให้ดี ให้มั่นคงในการดีทั้งปวง ให้พ้นการไม่ดีทั้งปวงงานมงคลนี้จะสำเร็จด้วยดี เกิดคุณประโยชน์แก่ ผู้คนที่กำลังทุกข์ร้อนทั้งปวง" ก่อนที่จะอ่านเนื้อหาในพระราชนิพนธ์ "พระมหาชนก" มีพระราชปรารภให้เห็นถึงที่มาว่า "เมื่อ พ.ศ. 2520 พระองศ์ทรงสดับพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธัมมสาโร มหาเถร) วัดราชผาติการาม เรื่องพระมหาชนก เสด็จทอดพระเนตรพระราชอุทยาน ในกรุงมิถิลา เรื่องมีใจความว่า ที่ทางเข้าสวนหลวงมีต้นมะม่วงสองต้น ต้นหนึ่งมีผล อีกต้นหนึ่ง ไม่มีผล ทรงลิ้มรสมะม่วงอันโอชาแล้วเสด็จเยี่ยมอุทยาน เมื่อเสด็จกลับออกจากสวนหลวง ทอดพระเนตรเห็นมะม่วงที่มีผลรสดี ถูกข้าราชบริพารดึงทึ้งจนโค่นลง ส่วนต้นที่ไม่มีลูกก็ยังคงตั้ง อยู่ตระหง่าน แสดงว่าสิ่งใดดี มีคุณภาพ จะเป็นเป้าหมายของการยื้อแย่งและจะเป็นอันตรายใน ท่ามกลางผู้ที่ขาดปัญญา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัย จึงทรงค้นเรื่องพระมหาชนกในพระไตรปิฎก (พระสุตตันตปิฏกขุททกนิกาย ชาดก เล่มที่ 4 ภาคที่ 2) และทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษตรงจากมหาชนก ชาดก ตั้งแต่ต้นเรื่องโดยทรงดัดแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น พระมหาชนกบำเพ็ญวิริยะบารมีไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ จนกระทั่งได้ทรงครองราชสมบัติ และนำความเจริญมั่งคั่งแก่กรุงมิถิลาด้วยพระปรีชาสามารถ

      มาถึงตอนเรื่องต้นมะม่วงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า  การที่พระมหาชนก จะเสด็จออกทรงแสวงโมกขธรรมยังไม่ถึงเวลาอันสมควร     เพราะว่าได้ทรงสร้างความเจริญแก่มิถิลายังไม่ครบถ้วน    กล่าวคือข้าราชบริพาร"นับแต่อุปราชจนถึงคนรักษาช้าง   รักษาม้าและนับแต่คนรักษาม้าจนถึงอุปราช และโดยเฉพาะเหล่าอมาตย์   ล้วนจารึกในโมหภูมิทั้งนั้น  ไม่มีความรู้ทั้งวิทยาการ  ทั้งทางปัญญายังไม่เห็นความสำคัญของผลประโยชน์แท้แม้ของตนเอง  จึงต้องตั้งสถานอบรมสั่งสอนให้เบ็ดเสร็จ" อนึ่ง  พระมหาชนกยังต้องทรงปรารภเรื่องการอนุบาลต้นมะม่วงตามวิธีสมัยใหม่  เก้าวิธีอีกด้วย

     ด้วยประการเช่นนี้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงดัดแปลงเนื้อเรื่องในมหาชนกชาดกให้เหมาะสมกับสังคมปัจจุบัน  โดยมีพระราชดำริว่าพระมหาชนกจะบรรลุโมกขธรรมได้ง่ายกว่า หากได้ประกอบพระราชกรณียกิจในโลกให้ครบถ้วนก่อน รูปที่ประกอบเรื่องเป็นฝีมือของศิลปินไทย   ซึ่งได้ทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังความคิดอย่างเต็มที่  เพื่อถ่ายทอดความงามของเรื่องนี้ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแปลมหาชนกชาดกเสร็จสมบูรณ์เมื่อ  พ.ศ.  2531 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พิมพ์ในโอกาศเฉลิมฉลองกาญจนภิเษกแห่งรัชกาล ให้เป็นเครื่องพิจารณาเพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของสาธุชนทั้งหลาย" ขอจงทรงมีความเพียรที่บริสุทธิ์ ปัญญาที่เฉียบแหลม  กำลังกายที่สมบูรณ์ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 9 มิถุนายน  2539

     นายขวัญแก้ว  วัชโรทัย  รองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายกิจกรรมพิเศษประธานคณะทำงานสร้างเหรียญและพระราชนิพนธ์  "พระมหาชนก"  ได้สรุปที่มาของพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ว่า  "ระหว่าง50  ปีที่ทรงครองราชย์ทรงผ่านพ้นอุปสรรคนานาชนิด อุปสรรคนั้นคือวิกฤตการณ์ต่าง  ๆ  เกิดเหตุเภทภัย  ลุกลามถึงประชาชน  โดยที่พระองค์ทรงเปรียบเสมือนพระพรหมของประชาชนทุกคน  เมื่อมีเหตุการณ์ก็พึ่งพระองค์  ขณะที่บ้านเมืองกำลังลุกเป็นไฟ  พระองค์รับสั่งกับผู้ที่ทำให้เกิดเรื่องก็จะสงบทันที  ชึ่งไม่มีที่ไหนในโลกนับว่าทรงเป็นมิ่งขวัญของประชาชน  ชาวไทยยากหาผู้เปรียบปาน

     ในหลวงทรงลำบากมากกกว่าชาวไทยเป็นไหน ๆ    ปัจจุบันไม่เคยมีพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ไหนทรงเหนื่อยมาก ๆ เหมือนพระองค์  ทรงงานจนพระเสโทไหล  ยากที่สามัญจะทำไดั  ทรงเป็นยอดมนุษย์ ยิ่งภาวะปัจจุบันคนไทยต้องมีความเพียรอดทน  ไม่ย่อท้อโดยยึดเอาแบบอย่างจากพระองค์ก็จะประสบความสำเร็จในชีวิต

     สมเด็จพระญานสังวร  สมเด็จพระสังฆราช  สกลมหาสังฆปริณายก  ทรงอ่านแล้วถึงกับตรัสว่า ถ้าใครได้อ่านแล้วมีปรัชญาชีวิต  สิ่งที่ดีงามสอนให้ผู้คนอดทนไม่ท้อแท้ เหมาะสมกับยุคนี้  ทันสมัยทันต่อเหตุการณ์ถ้าอ่านให้ลึกซึ้งจริง ๆ ประชาชนชาวไทยคงไม่มีใครฆ่าตัวตาย

     ทรงแปลเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษควบคู่กันไป  เป็นประโยชน์ทิ้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทรงถอดประวัติของพระองค์ตลอดระยะเวลา  50  ปีที่ครองราชย์  ทรงประสบอุปสรรค  ความยากลำบาก เหมือนพระมหาชนกเมื่อเรือแตกก็ทรงว่ายน้ำถึง  7  วัน  จนเทวดามาช่วย  ในหลวงก็ทรงประสบวิกฤต แต่ทรงมีความเพียรไม่ท้อแท้  ซึ่งบางคนก็มีความเพียรอยู่แต่ท้อแท้  ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต และเหรียญที่จัดสร้างขึ้นนี้ไม่ใช่เครื่องรางของขลัง  แต่เป็นสิ่งเพิ่มกำลังใจในการต่อสู้กับชีวิต  เป็นประทีปส่องทาง"

     ใครที่ได้อ่านเรื่องพระมหาชนกต่างพูดตรงกันว่า  พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถทางด้านวรรณกรรมยิ่งนักทรงใช้ภาษาที่กระชับ  สละสลวยอ่านง่าย  แสดงให้เห็นชัดแจนว่าพระองค์ท่านทรงได้ศึกษาเรื่องที่จะเขียนและทรงมีความรู้อย่างลึกซึ้ง

     พระมหาชนกฉบับพระราชนิพนธ์นี้  เป็นวรรณคดีพระพุทธศาสนาเรื่องหนึ่งในทศชาติชาดก ซึ่งเป็นชาดก  10  ชาติสุดท้าย  ก่อนที่พระโพธิสัตว์จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ  และตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ชาดกเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงการบำเพ็ญบารมีของพระมหาชนก วิริยะบารมี" ซึ่งเต็มไปด้วยความเพียรพยายามอย่างยิ่งยวด

     บทแรกขึ้นต้นว่า  ในอดีตกาลอันพ้นคณนาวิสัย  ครั้งหนึ่งพระราชาพระนามว่า  มหาชนก ครองราชสมบัติอยู่ในกรุงมิถิลา  แคว้นวิเทหะ  พระเจ้ามหาชนกนั้น  มีพระราชโอรสสองพระองค์ พระนามว่าอริฏฐชนก  และโปลชนก  พระราชาพระราชทานตำแหน่งอุปราชแก่องค์พี่  และตำแหน่งเสนาบดีแก่องค์น้อง  กาลต่อมาพระมหาชนกเสด็จสวรรคต  พระอริฏฐชนกได้ครองราชสมบัติ และทรงรั้งพระโปลชนกเป็นอุปราช

     วันหนึ่งอมาตย์ผู้ใกล้ชิดกราบทูลใส่ร้ายว่า  พระอุปราชโปลชนกคิดไม่ซื่อ พระอริฏฐชนกหลงเชื่อ  สั่งจองจำพระโปลชนกแต่พระโปลชนกตั้งจิตอธิษฐานและหลบหนีไปได้ ภายหลังได้รวบรวมพลท้ารบและเอาชนะได้ในที่สุด    พระอริฏฐชนกสิ้นพระชนม์ในที่รบ พระเทวีที่กำลังทรงครรภ์จึงปลอมตัวหนีออกนอกเมือง  ด้วยความช่วยเหลือของท้าวสักกเทวราช จึงเสด็จหนีไปจนถึงเมืองกาลจัมปากะ  ได้พราหมณ์  ผู้หนึ่งอุปการะไว้ในฐานะน้องสาว

     ต่อมาทรงมีประสูติกาล  ตั้งพระนามพระโอรสตามพระอัยยิกาว่า  "พระมหาชนก" จบจนกระทั่งพระมหาชนกเติบใหญ่  และได้ทราบความจริงก็คิดจะไปค้าขายแล้วจะไปเอาราชสมบัติคืน จึงนำสมบัติกึ่งหนึ่งของพระมารดาไปขาย  แลกเป็นสินค้าออกเรือไปยังสุวรรณภูมิ

     ระหว่างทางในมหาสมุทรเรือต้องพายุล่มลง  ลูกเรือตายหมดเหลือแต่พระมหาชนก รอดผู้เดียว  ทรงอดทนว่ายน้ำในมหาสมุทรด้วยความเพียร  7  วัน  7  คืน  จนได้พบนางมณีเมขลา และสนทนาธรรมในเรื่องของความเพียรในที่สุดนางมณีเมขลาได้อุ้มพระมหาชนกไปส่งยังมิถิลานคร

     เนื้อเรื่องหลังจากนี้น่าติดตามมาก  ดังที่พระองค์รับสั่งว่า  "ตัวหนังสือบางอย่างหรือคำบางอย่างได้ดัดแปลงให้ตรงกับความคิดสมัยใหม่นี้บ้าง  ที่อาจไม่เป็นประโยชน์แก่คนปัจจุบันก็ได้ละเว้น  และได้ตกแต่งส่วนใหม่ที่เป็นประโยชน์แก่สังคมปัจจุบัน

วิธีสังเกตุเหรียญ
     ด้านหน้า
     1. ยอดฉัตรจะดูเอียงเล็กน้อย มาทางด้านซ้ายนิดๆ
     2. ตัวอักษร ภปร และ ข้อความด้านล่าง จะออกเงา สวย
     3. ก้านแว่นจะไม่ตรงโค้งๆ นิดๆ และจะคมชัดตั้งแต่พระเนตรจนถึงพระกันต์
     4. ผิวพื้นเหรียญจะเป็นแบบเม็ดทรายละเอียด
     5. ถ้านับเส้นคันตรงหนังสือจะนับได้ 4




ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก 
http://udommongkol.tarad.com/product.detail.php?id=4386787?lang=th&lang=th
และ  http://thaigoldcoin.com

เหรียญที่ระลึก 3 พระองค์ 89 พรรษาสมเด็จย่า ปี2532 เนื้อทองคำ สองสลึง ทรงกลม พิมพ์เล็ก





     เหรียญที่ระลึก 3 พระองค์ 89 พรรษาสมเด็จย่า ปี2532 สร้างตึกผ่าตัดโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น เนื้อทองคำ พิมพ์เล็ก นน.รวมกรอบพลาสติก 9.4 กรัม

     เหรียญนี้เป็นทรงกลม ไม่ใช่รูปไข่ หายากมาก

     เหรียญที่ระลึกเนื่องในวโรกาสสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเริญพระชนมายุ 89 พรรษา ณ วันที่ 21 ตุลาคม 2532  เหรียญเป็นพระบรมรูป รัชกาลที่ 8  สมเด็จย่าและรัชกาลที่ 9 พระพักตร์ตรง





ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://thaigoldcoin.com



เหรียญที่ระลึก 6 รอบในหลวง มูลนิธิวชิรเวชวิทยาลัย พ.ศ.2542 เนื้อบรอนซ์ชุบเงิน หลังฮาโลแกรม 3 มิติ





      เหรียญที่ระลึก 6รอบในหลวง มูลนิธิวชิรเวชวิทยาลัย พ.ศ.2542 เนื้อบรอนซ์ชุบเงิน หลังฮาโลแกรม 3 มิติ สวยมาก เหรียญดีพิธีใหญ่ คณาจารย์คณะสงฆ์ทั่วประเทศอธิฐานจิต





ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://thaigoldcoin.com




เหรียญอนุสรณ์มหาราช พิมพ์เสมา 3 รอบในหลวง เนื้อทองคำ ปี 2506






     รูปแบบเหรียญเสมา ขอบเรียบ ด้านบนมีห่วง ตรงกลางเหรียญเป็นพระบรมรูปครึ่งพระองค์ ผินพระพักตร์เบื้องซ้าย ทรงเครื่องทหารมหาดเล็กเต็มยศ ใต้พระบรมรูปเป็นพระปรมาภิไธย "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" ริมขอบด้านซ้ายมีอักษรภาษาอังกฤษ Royal Mint

     ด้านหลัง ตรงกลางเป็นตราพระบรมราชจักรีวงศ์ เบื้องบนมีข้อความ "อนุสรณ์มหาราช" เบื้องล่างโค้งตามตราพระบรมราชจักรีวงศ์ เป็นข้อความว่า "เฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๓ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๐๖"

     เหรียญอนุสรณ์มหาราช เป็นเหรียญที่ระลึกในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุครบ 3 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมปี2506 ผ่านพิธีการปลุกเสกอย่างยิ่งใหญ่ ณ อุโบสถวัดราชบพิธ ถึง 2 วาระด้วยกัน

     ครั้งแรกวันที่ 29-30 พ.ย.2506

     รายนามพระคณาจารย์ที่ได้รับอาราธนามานั่งปรกบริกรรม วันที่ 29-30พฤศจิกายน 2506ณ พระอุโบสถวัดราชบพิธ

     (พิธีครั้งที่ 1)
          1. หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก อยุธยา
          2. หลวงพ่อพระครูโพธิสารประสาธน์ วัดโพธิสัมพันธ์ บางละมุง ชลบุรี
          3. หลวงพ่อพระวรพจรน์ปัญญาจารย์ วัดอรัญญิกาวาส ชลบุรี
          4. หลวงพ่อเมือง วัดท่าแหน แม่ทะ ลำปาง
          5. หลวงพ่อพระราชหระสิทธิคุณ วัดราชธานี สุโขทัย
          6. หลวงพ่อเงิน (พระราชธรรมาภรณ์ )วัดดอนยายหอม นครปฐม
          7. หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม นครปฐม
          8. พ่อท่านคล้าย วัดสวนขวัญ ฉวาง นครศรีธรรมราช
          9. พระครูวิสัยโสภณ (อาจารย์ทิม) วัดช้างไห้ ปัตตานี

     พิธีครั้งที่ 2. วันที่ 5-6-7 เมษายน 2507
     รายนามพระคณาจารย์ที่ปลุกเสก วันที่ 5 เมษายน 2507
          1. พระสุเมธมุนี เจ้าคณะวัดบางหลวง ปทุมธานี
          2. พระสุนทรศีลสมาจาร (หลวงพ่อผล) วัดหนัง ธนบุรี
          3. พระครูปลัดบุญรอด วัดประดู่พัฒนาราม นครศรีธรรมราช
          4. หลวงพ่อทบ วัดสว่างอรุณ ชนแดน เพชรบูรณ์
          5. พระครูนนทกิจวิมล ( หลวงพ่อชื่น) วัดตำหนักเหนือ นนทบุรี
          6. หลวงพ่อบัว วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี
          7. พระครูพุทธมนต์วราจารย์ (พระปลัดสุพจน์) วัดสุทัศน์ พระนคร
          8. พระครูบวรธรรมกิจ (หลวงปู่เทียน) วัดโบสถ์เชียงราก ปทุมธานี
          9. หลวงพ่อหอม วัดขากหมาก ระยอง

     รายนามพระคณาจารย์ที่ปลุกเสก วันที่ 6 เมษายน 2507
           1. พระครูพิทักษ์วิการกิจ (หลวงพ่อสา) วัดราชนัดดา พระนคร
           2. พระครูสถาพรพุทธมนต์(หลวงพ่อสำเนียง) วัดเวฬุวนาราม บางเลน นครปฐม
           3. พระครูธรรมิตรนุรักษ์ วัดเขาหลัก ท่าศาลา นครศรีธรรมราช
           4. พระครูรักขิตวันมุนี (หลวงพ่อถีร์) วัดป่าเลไลย์ สุพรรณบุรี
           5. พระเทพสังวรวิมล (หลวงพ่อเจียง) วัดเจริญสุขาราม สมุทรสงคราม
           6. หลวงพ่อสำเภา วัดหงส์รัตนาราม บางกอกใหญ่ ธนบุรี
           7. พระครูบาวัง วัดบ้านเด่น จ.ตาก
           8. พระมุจรินทร์โมลี (หลวงปู่ดำ) วัดมุจรินทร์ หนองจิก ปัตตานี

     รายนามพระคณาจารย์ที่ปลุกเสก วันที่ 7 เมษายน 2507
           1. หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก บางไทร อยุธยา
           2. พระครูโพธิสารประสาธน์ (อาจารย์บุญมี) วัดโพธิสัมพันธ์ ชลบุรี
           3. พระวราพจน์ปัญญาจารย์ (หลวงพ่อวัดป่า) วัดอรัญญิกาวาส ชลบุรี
           4. หลวงพ่อเมือง วัดท่าแหน แม่ทะ ลำปาง
           5. พระราชประสิทธิคุณ (หลวงพ่อทิม) วัดราชธานี สุโขทัย
           6. พระราชธรรมาภรณ์ (หลวงพ่อเงิน) วัดดอนยายหอม นครปฐม
           7. หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม นครปฐม
           8. พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อเมี้ยน) วัดพระเชตุพน พระนคร
           9. พระครูวิสัยโสภณ (อาจารย์ทิม) วัดช้างให้ โคกโพธิ์ ปัตตานี

     การเริ่มพิธีนั้น พระเจริญคาถาภารวาณจะ ตั้งแต่เวลา 15.00น.ของแต่ละวัน พระคณาจารย์ทุกรูปจะผลัดเปลี่ยนกันนั่งปรกบริกรรมกันตลอดเวลา จนตลอดรุ่งของทุกวัน จนถึงเช้าตรู่วันที่ 8เมษายน 2507เวลา 6.00น. พระอาจารย์ที่นั่งปรกวันที่สามทั้งหมดทุกรูปประชุมพร้อมกันปลุกเสกเงียบเป็น เวลา 30นาที พอครบเวลาตามที่กำหนด เจ้าหน้าที่ลั่นฆ้องชัย พราหมณ์ เป่าสังข์แกว่งบัณเฑาะว์ ปี่พาทย์ทำเพลง 3ลา พระคณาจารย์ทุกรูปประพรมน้ำพุทธมนต์เหรียญเสมาทั้งหมดที่เข้าพิธีเสร็จแล้ว เจิม พระพิธีธรรมเจริญคาถาดับเทียนชัย สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ดับเทียนชัย พราหมณ์เริ่มพิธีเบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชเป็นเสร็จการพิธี

     จัดสร้างโดย กระทรวงมหาดไทย เพื่อหาเงินทุนจัดตั้ง "มูลนิธิมหาราช" และได้ประกอบพิธีรัชมังคลาภิเษก ณ วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน ถึง 3 ธันวาคม พ.ศ. 2506

     ข้อมูลเหรียญ
     เหรียญเสมาทองคำ 3 รอบมหาราชซึ่งผลิตขึ้นในปี พ.ศ. 2506 เป็นเหรียญที่ผลิตขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุครบ 36 พรรษา หรือ 3 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2506 โดยเหรียญนี้ผลิตโดยเนื้อทองคำ รูปทรงเหรียญเป็นรูปเสมา หรือที่คุ้นหูกันชื่อเหรียญอาร์ม มีด้วยกัน 3 บล๊อค คือ 1.บล๊อคแว่นแตก (เป็นบล๊อคที่หายาก) 2.บล๊อค ช. 2 เส้น และอีกบล๊อคก็จะเป็นบล๊อคปกติทั่วไป น้ำหนักเหรียญจะอยู่ที่ 16-17 กรัม คาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ วัดราชบพิธ

     ราคาจองซื้อสมัยนั้น
          1. ผู้สมทบทุน  1  บาท       ได้รับเสมาเนื้ออัลปาก้า  1 เสมา
          2. ผู้สมทบทุน  5  บาท       ได้รับเสมาเนื้อเงิน  1  เสมา
          3. ผู้สมทบทุน  1,000 บาท  ได้รับเสมาทองคำ  1  เสมา
          4. ผู้สมทบทุนถึง 10,000 บาท  นอกจากจะได้รับเสมาทองคำ 10 เสมาแล้ว มูลนิธิฯ จะได้ทำการจารึกชื่อผู้บริจาคไว้ ณ สถานอุปการะเยาวชนของมูลนิธิมหาราช

     วิธีสังเกตุเหรียญ
     ด้านหน้า
          1. รูเข้าห่วงด้านหน้าจะอยู่ เยื้องๆ กับด้านหลัง
          2. ผิวเหรียญ ดูจะเป็นเนื้อทองเก่า จะออกเป็นเสี้ยนๆ เล็กๆ
          3. สระ อู กับ อุ ตรงคำว่า "ภูมิ กับคำว่า ดุล" จะชิดกับขอบด้านล่าง
          4. สังเกตุ "ร" ให้ดีๆ หาง "ร" มันจะยกสูงกว่าหัว "ม"
          5. มีคำว่า ROYAL MINT อยู่

     ด้านหลัง
          1. รูเข้าห่วงหลังเมื่อกลับเหรียญแล้วจะ เยื้องกับด้านหน้า
          2. "ม" จะดูห่างออกมากลุ่มตัวอักษร
          3. ให้สังเกตุวงกลมเล็กๆ จะอยู่ในตำแหน่งที่เยื้องกัน จะไม่ตรงกัน
          4. สระ อะ จะใหญ่ เล็ก ไม่เท่ากัน




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
www.thaicoin.net ขอขอบคุณเป็นอย่างสูง
และ http://thaigoldcoin.com


เหรียญคุ้มเกล้า เนื้อทองคำ พิมพ์ใหญ่ ปี 2522 พิธีใหญ่ "หลวงปู่แหวน" ร่วมปลุกเสก





     วัตถุมงคลดี พิธีใหญ่ เหรียญคุ้มเกล้า สร้างเมื่อปี 2522 ที่หลายคนต่างหาเช่าเก็บไว้บูชา ด้วยเหตุที่เป็น ของดี ที่ในหลวงเสด็จฯ ทรงประกอบพิธีเททอง

     สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า ′ทรงทำอุปการะก่อนแก่พสกนิกร เพราะทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจโดยธรรม อีกทั้งยังให้ความสุข ความเจริญแก่พสกนิกร ชื่อว่าทรงเป็นบุพการีของพสกนิกร ซึ่งเหล่าพสกนิกรชาวไทยจักถวายความจงรักภักดีเป็นล้นพ้นดุจบิดาของตน′

     ดังนั้น เมื่อมีการสร้างวัตถุมงคลที่ระลึกต่างๆ จึงมีผู้ให้ความสนใจอย่างมาก เพราะคนไทยทั้งปวงต่างเชื่อมั่นว่า ผู้ใดมีพระบรมฉายาลักษณ์ไว้บูชาจะนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคลสูงสุดและปลอดภัยจากภยันตรายทั้งมวล จึงทำให้วัตถุมงคลที่จัดสร้างเป็นที่ระลึก ซึ่งมีพระบรมรูปและพระปรมาภิไธยย่อ ′ภปร′ ไม่ว่าจะเป็นพิมพ์ไหน แบบไหน ปีไหนล้วนเป็นที่ปรารถนาและทรงคุณค่าอย่างยิ่ง รวมทั้งมีมูลค่าในการสะสมเพิ่มขึ้นไปตามกาลเวลา

     ตลอดปี 2554 ซึ่งตรงกับปีมหามงคลที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7รอบ 84 พรรษา นอกจากจะมีการจัดสร้างวัตถุมงคลเพื่อเป็นที่ระลึกและร่วมเทิดพระเกียรติแล้ว ยังส่งผลให้พระเครื่องและของที่ระลึกรุ่นเก่าๆ ของรัชกาลที่ 9 กลับมาได้รับความนิยมและเป็นที่เสาะหากันอย่างคึกคักอีกครั้ง อย่างเช่น วัตถุมงคลดี พิธีใหญ่ ′เหรียญคุ้มเกล้า′ สร้างเมื่อปี 2522 ที่หลายคนต่างหาเช่าเก็บไว้บูชา ด้วยเหตุที่เป็น ′ของดี′ ที่เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีเททอง

     สำหรับ ′เหรียญคุ้มเกล้า′ มีประวัติการสร้างดังนี้ เนื่องในวาระครบรอบ 30 ปีของการให้บริการโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชเมื่อ 27 มีนาคม 2522 กองทัพอากาศได้ดำริสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินขนาดใหญ่สูง 12 ชั้นที่ทันสมัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลและเสริมสร้างบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมบรรดาผู้ป่วยทั้งหลายไปชั่วกาลนาน โดยสิ้นค่าใช้จ่ายกว่า 600 ล้านบาท จากเงินที่ประชาชนทั่วประเทศร่วมใจกันบริจาค

     ในการรณรงค์หาทุนสร้าง ′อาคารคุ้มเกล้าฯ′ และจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยไว้ใช้ในอาคารคุ้มเกล้าฯ กองทัพอากาศได้จัดสร้าง ′วัตถุมงคลคุ้มเกล้า′ ขึ้นเพื่อสมนาคุณแก่ผู้มีจิตศรัทธา ให้การสนับสนุน ประกอบด้วย พระพุทธรูปบูชา พระกริ่ง และเหรียญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

     โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ ′ภปร′ ประดิษฐานที่เหรียญ และทรงให้ช่างในพระองค์เป็นผู้ปั้นแบบเหรียญพระบรมรูปด้านหน้าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ ด้านหลังเป็นพระปรมาภิไธยย่อ ′ภปร′ พิธีลงอักขระแผ่นทอง นาก เงิน แผ่นยันต์อักขระที่ใช้สร้าง ′เหรียญคุ้มเกล้า′ ได้จัดพิธีลงอักขระ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพ มหานคร โดยมี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นประธานพร้อมด้วย สมเด็จพระราชาคณะและพระเถระผู้ใหญ่รวม 60 รูป ทำพิธีลงอักขระแผ่น ทอง นาก เงิน เป็นปฐมฤกษ์ หลังจากนั้นได้นำแผ่น ทอง นาก เงิน ไปให้พระเถราจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิทั่วประเทศ จารึกอักขระจนครบ 1,250 รูป

     พิธีเททองหล่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปทรงเททองหล่อพระพุทธรูปคุ้มเกล้าฯ ณ วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ซึ่งตรงกับวันที่′หลวงปู่แหวน สุจิณโณ′ มีอายุครบ 97 ปี เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2527 โดยมีสมเด็จพระสังฆราช พร้อมด้วยพระเถระผู้ใหญ่ผู้ทรงคุณอีก 9 รูป เจริญชัยมงคลคาถา ในโอกาสนี้ได้ทรงทำพิธีหลอมแผ่นทอง นาก เงิน ที่ได้ทำพิธีลงอักขระแล้ว เป็นชนวนนำไปสร้างวัตถุมงคลคุ้มเกล้าต่อไป

     จากนั้น ประกอบพิธีพุทธาภิเษกหมู่อย่างใหญ่โตมโหฬาร 4 วัน 4 คืน 6-9 เมษายน2527 โยงสายสิญจน์จากพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามมายังปะรำพิธี ณ ท้องสนามหลวง นิมนต์พระเถรานุเถระผู้ทรงคุณ เกจิอาจารย์ดัง 108 รูปจากทั่วประเทศผลัดเปลี่ยนกันนั่งปรกปลุกเสกตลอดรวม 4 คืน อาทิ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, หลวงปู่ดูุลย์ วัดบูรพาราม, หลวงปู่แหวน วัดดอยแม่ปั๋ง, หลวงปู่ครูบาพรหมจักร วัดพระพุทธบาทตากผ้า, หลวงพ่ออุตตมะ วัดวังก์วิเวการาม, หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง เป็นต้น
โดยเฉพาะ ′หลวงปู่แหวน′ ที่มาร่วมนั่งปรกอธิษฐานจิต นับว่าเป็นวาระพิเศษส่งผลให้วัตถุมงคลรุ่นนี้ไม่ธรรมดาในสายตาของนักสะสม มีผู้กล่าวถึงและว่าท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์ เปี่ยมล้นด้วยเมตตาธรรม และมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ วัตถุมงคลของท่านต่างร่ำลือในความเข้ม มีผู้นิยมแสวงหาไว้พกพาติดตัว เพื่อความเป็นสิริมงคล

     เหรียญทุกรุ่นที่หลวงปู่แหวนอธิษฐานจิตปลุกเสก พุทธคุณโดดเด่นในเรื่องเมตตามหานิยม ค้าขายเจริญรุ่งเรือง การเดินทางแคล้วคลาดปลอดภัย สยบสิ่งชั่วร้ายต่างๆ นานา วัตถุมงคลที่นิยมมากคือ ′เหรียญหลวงปู่แหวนรุ่นแรก พิมพ์หน้าวัว′

     สำหรับวัตถุมงคลรุ่นคุ้มเกล้า ในวันแรกของพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงจุดไฟพระฤกษ์ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มอบให้พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผบ.ทอ. อัญเชิญเข้าขบวนแห่มายังปะรำพิธี จากนั้นในเวลา 19.19 น. สมเด็จพระสังฆราช เสด็จมาจุดเทียนชัยจากไฟพระฤกษ์

     เริ่มพิธีพุทธาภิเษกจนถึงรุ่งอรุณของวันที่ 4 สมเด็จพระญาณสังวรฯ เป็นประธานดับเทียนชัย เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีพุทธาภิเษก นับเป็นพิธีพุทธาภิเษกที่ต้องจารึกเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ว่า พิธีนี้ใหญ่จริงๆยามนี้จึงมีประชาชนถวิลหาเช่าบูชา′เหรียญคุ้มเกล้า′ กันอย่างกว้างขวาง ทั้งในแวดวงเซียนพระเองก็ตาม ต่างเก็บเหรียญนี้ เพื่อเก็งกำไรเพราะเชื่อว่ารุ่นนี้มีอนาคตสดใส ซึ่งก็เป็นจริงตามที่คาดการณ์เอาไว้ ราคาของเหรียญเริ่มขยับขึ้นเรื่อยๆ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 9 เมษายน 2555 และ วันที่ 10 เมษายน 2555
และ http://thaigoldcoin.com


เหรียญที่ระลึกสมโภชช้างเผือก ภปร.จ.นราธิวาส ปี 2520 เนื้อเงิน

     เหรียญสมโภชช้างเผือก จ.นราธิวาส ปี 2520 ช้างเผือกเชือกที่ 9 ในรัชกาลที่ 9





     หลังจากมีการขึ้นระวางลูกช้างพัง ‘จิตรา’ เป็นช้างต้นคู่พระบารมีแล้ว ไม่นานต่อมา กระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยประชาชนชาวนราธิวาส จึงพร้อมใจกันน้อมเกล้าฯ ถวายช้างสำคัญเชือกนี้ เพื่อเป็นพระราชยานพาหนะคู่พระบารมีตามโบราณราชประเพณีสืบไป

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นว่า การมีช้างสำคัญเกิดขึ้นในพระราชอาณาจักร โบราณราชประเพณีย่อมนิยมว่าเป็นสิริมงคลแก่ประเทศชาติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงรับการน้อมเกล้าฯ ถวายช้างสำคัญ และโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีขึ้นระวางสมโภชช้างสำคัญขึ้นที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อเป็นเกียรติประวัติและเป็นสิริมงคลแก่จังหวัดนราธิวาสและส่วนภูมิภาค เป็นงานพิธีรวม ๓ วัน ในระหว่างวันที่ ๒๓-๒๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๐

     โดยช้าง “จิตรา” ได้ขึ้นระวางเป็น “พระศรีนรารัฐราชกิริณี” หรือนามเต็มว่า “พระศรีนรารัฐราชกิริณี จิตรวดีโรจนสุวงศ์ พรหมพงศ์อัฐทิศพิศาล พิเสฐธารธรณิพิทักษ์ คุณารักษ์ กิตติกำจร อมรสารเลิศฟ้า”

     ก่อนถึงพระราชพิธีสำคัญยิ่งนี้  ทางจังหวัดโดยนายวัชระ สิงคิวิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้จัดสถานที่เตรียมงานและจัดสร้างรูปช้างปูนปั้น ณ ประตูเข้าเมืองให้สมพระเกียรติขึ้น ช้างคู่รูปช้างปูนปั้นออกแบบโดยนายสมพงษ์ แจ้งศิริ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส

     ภายหลังรูปช้างคู่สัญลักษณ์เมืองช้างเผือก ถูกนำไปประดิษฐานอยู่ที่ถนนสุริยะประดิษฐ์ก่อนเข้าสู่ตัวเมืองนราธิวาส ผ่านหน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสเล็กน้อย ผู้ผ่านมาผ่านไปจะเห็นรูปช้างยืนอยู่สองฟากถนนหันหน้าเข้าหากันบริเวณสี่แยกตรงถนนนราภิรมย์ตัดกับถนนสุริยะประดิษฐ์ ชาวนราธิวาสเรียกบริเวณนี้ว่า “แยกช้างคู่” ก่อนจะย้ายรูปช้างปูนปั้นคู่ไปอยู่ใกล้กับสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนราธิวาสในกาลต่อมา

     สำหรับในพระราชพิธีสมโภชช้างเผือก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานเหรียญการสมโภชขึ้นระวางช้างเผือกแก่ข้าราชการและประชาชนไว้เป็นที่ระลึกด้วย เป็นเหรียญที่สร้างด้วยเนื้อเงินแท้ขนาดกว้าง ๓ เซนติเมตร สูง ๓.๕ เซนติเมตร ด้านหน้าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ทั้งสองพระองค์คู่กัน ด้านหลังเหรียญเป็นรูปช้างเผือกแต่งด้วยคชาภรณ์ ข้างบนมีอักษรย่อ ภปร. แนวขอบเหรียญด้านล่างมีอักษรจารึกว่า พระราชพิธีขึ้นระวางสมโภชช้างเผือก ด้านใต้ฐานรูปช้าง มีอักษรว่า จ.นราธิวาส. ส.ค.๒๕๒๐ นับเป็นเหรียญที่สวยงามมาก

     นอกจากนี้ในที่สุดสัญลักษณ์ของจังหวัดนราธิวาสที่เป็นรูปเรือใบเต็มกำลังแล่นกางใบ ก็มีรูปช้างเผือกปรากฏอยู่ด้วย

     ปัจจุบันพื้นที่ที่พบช้างสำคัญจนได้นำเข้าน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นช้างต้นคู่บารมีครั้งนั้น ได้มีการตั้งชื่อสถานที่นั้นเป็นที่ระลึกว่า “บ้านช้างเผือก” ตำบลช้างเผือก ซึ่งแยกมาจากตำบลดุซงญอ และเปลี่ยนจากอำเภอระแงะมาขึ้นตรงต่ออำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส จนปัจจุบันนี้ และในพื้นที่ตำบลช้างเผือกนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ได้เคยเสด็จมาเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๓ กระทั่งมีการก่อสร้างศาลาทรงงานในโครงการศิลปาชีพ พร้อมทั้งมีโครงการของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชอีกหลายโครงการ

     และ...นี่คือตำนานช้างเผือกเชือกที่ ๙ ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่โรงช้างต้น พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จากช้างต้นหรือช้างเผือกทั้งหมด ๑๒ เชือกที่ขึ้นระวางเป็นช้างสำคัญในรัชกาลนี้

     ช้างเผือกเชือกแรกที่ทรงขึ้นระวางเป็นช้างสำคัญในรัชกาล ชื่อ “พระเศวตอดุลยเดชพาหน ภูมิพลนวนาถบารมี ทุติยเศวตกรีกมุทพรรโณภาส บรมกมลาสนวิศุทธวงศ์ สรรพมงคลลักษณะคเชนทรชาติ สยามราษฎรสวัสดิประสิทธิ์ รัตนกุญชรนิมิตบุญญาธิการ ปรมินทรพิตรสารศักดิเลิศฟ้า” เป็นช้างเผือกโท ที่นายแปลกคล้องได้ที่จังหวัดกระบี่เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๙ และ พลโท บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานกรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย น้อมเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๐ สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๒




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://thaigoldcoin.com

เหรียญที่ระลึก อนุสรณ์การพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จย่า เนื้อทองคำ 20 กรัม ปี 2539







     เหรียญที่ระลึกอนุสรณ์การพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จย่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเนื้อทองคำปี 2539

     เส้นผ่าศูนย์กลาง 30 มม. น้ำหนัก 20 กรัม ลักษณะเหรียญกลมขอบเรียบ มีอักษร Au ที่บริเวณใต้รูปพระเมรุมาศด้านซ้าย

     รูปแบบเหรียญ

     กลางเหรียญมีพระรูปสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระพักตร์ตรง ชิดวงขอบเหรียญด้านล่างมีข้อความว่า "สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี" มีลายดอกประจำยามประกอบหัวท้ายข้อความ

     กลางเหรียญมีรูปพระเมรุมาศ ด้านล่างมีข้อความว่า "๒๑ ตุลาคม ๒๔๔๓-๑๘ กรกฎาคม ๒๕๓๘ " และมีเครื่องหมายโรงกษาปณ์ ชิดวงขอบเหรียญด้านบนมีข้อความว่า "อนุสรณ์การพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ๑๐ มีนาคม ๒๕๓๙"

     เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สวรรคตด้วยอาการสงบ ณ โรงพยาบาลศิริราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้สำนักพระราชวังจัดการพระบรมศพถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามโบราณราชประเพณี ประดิษฐานพระบรมศพ ณพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2538  และมีพระบรมราชานุญาตให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการและประชาชนทั่วไป เข้าถวายสักการะพระบรมศพ จนถึงวัพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง ในวันที่ 10 มีนาคม 2539

     ในการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพครั้งนี้ คณะกรรมการจัดงานฯ ได้มอบหมายให้กรมธนารักษ์จัดทำเหรียญที่ระลึกไว้เป็นอนุสรณ์ด้วย โดยกระทรวงการคลังได้นำเงินรายได้จากการจำหน่ายเหรียญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลตามอัธยาศัย

     กรมธนารักษ์ได้เคยจัดทำเหรียญทีระลึก ถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ มาแล้ว 3 ครั้ง คือ

     1. เหรียญที่ระลึกพระราพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 (พ.ศ. 2528) จัดทำเหรียญชนิดทองคำ ชนิดเงิน ชนิดทองแดงรมดำ 2 ขนาด คือ ชนิดเส้นผ่าศูนย์กลาง 70 มม. และชนิดเส้นผ่าศูนย์กลาง35 มม.

     2. เหรียญที่ระลึกอนุสรณ์การพระราชพิธีถวานพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี(พ.ศ. 2539) จัดทำชนิดทองคำ ชนิดเงินและชนิดทองแดง

     3. เหรียญที่ระลึกอนุสรณ์พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์(พ.ศ.2551) จัดทำชนิดทองคำ ชนิดเงินและชนิดทองแดงรมดำพ่นทราย




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://thaigoldcoin.com



เหรียญที่ระลึกครบ 50 ปี ราชาภิเษกสมรส ครบชุด เนื้อทองคำ เงิน และทองแดง ปี2543

     เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดเหรียญที่ระลึกครบ 50 ปี ราชาภิเษกสมรสและเหรียญที่ระลึกครบ 50 ปี บรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นเหรียญที่ระลึกที่ขึ้นในปี พ.ศ. 2543 อันเป็นโอกาสครบรอบ 50 ปี แห่งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และราชาภิเษกสมรสเหรียญที่ระลึกครบ 50ปี ราชาภิเษกสมรส และเหรียญที่ระลึกครบ 50 ปี บรมราชาภิเษก เป็นเหรียญที่สร้างน้อยและหายากมากในปัจจุบัน ผู้ที่ชื่นชอบและนักสะสมไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่งครับ

     ลักษณะของเหรียญ เหรียญชนิดที่ 1 - 4 เป็นเหรียญกลมวงขอบนอกเรียบลวดลาย
     ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ พระรูปสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เบื้องหลังมีรูปพระบรมมหาราชวัง เบื้องบนระหว่างสองพระองค์ มีเครื่องหมายสัญลักษณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ อยู่ภายใต้นพปฎลเศวตฉัตร






     ด้านหลัง กลางเหรียญมีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ "ภปร" และอักษรพระนามาภิไธย "สก" เบื้องบนมีอุณาโลมเป็นเลขเก้าอยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ เบื้องล่างมีรูปดอกพุดตาน ภายในวงขอบเหรียญด้านขวามีข้อความว่า "ราชาภิเษกสมรสครบ 50 ปี" ด้านซ้ายมีข้อความว่า "28 เมษายน 2543" และวงรอบเหรียญมีลายกลีบดอกรัก จำนวนห้าสิบกลีบ

     เหรียญที่ระลึกครบ 50 ปี ราชาภิเษกสมรส ผลิต 4 ชนิด บรรจุพร้อมกล่องและใบรับรอง คือ

     1. เหรียญที่ระลึกทองคำพ่นทรายพิเศษ
          ส่วนผสม ทองคำร้อยละ 90
          ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 26 มิลลิเมตร
          น้ำหนัก 15 กรัม

     2. เหรียญที่ระลึกเงินรมดำพ่นทรายพิเศษ
          ส่วนผสม เงินร้อยละ 92.5
          ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 30 มิลลิเมตร
          น้ำหนัก 15 กรัม

     3. เหรียญที่ระลึกทองแดงรมดำพ่นทรายพิเศษ
          ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 30 มิลลิเมตร
          น้ำหนัก 13 กรัม

     4. เหรียญที่ระลึกทองแดงรมดำพ่นทรายพิเศษ
          ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 70 มิลลิเมตร
          น้ำหนัก 150 กรัม




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://thaigoldcoin.com