วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เหรียญที่ระลึกสมโภชช้างเผือก ภปร.จ.นราธิวาส ปี 2520 เนื้อเงิน

     เหรียญสมโภชช้างเผือก จ.นราธิวาส ปี 2520 ช้างเผือกเชือกที่ 9 ในรัชกาลที่ 9





     หลังจากมีการขึ้นระวางลูกช้างพัง ‘จิตรา’ เป็นช้างต้นคู่พระบารมีแล้ว ไม่นานต่อมา กระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยประชาชนชาวนราธิวาส จึงพร้อมใจกันน้อมเกล้าฯ ถวายช้างสำคัญเชือกนี้ เพื่อเป็นพระราชยานพาหนะคู่พระบารมีตามโบราณราชประเพณีสืบไป

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นว่า การมีช้างสำคัญเกิดขึ้นในพระราชอาณาจักร โบราณราชประเพณีย่อมนิยมว่าเป็นสิริมงคลแก่ประเทศชาติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงรับการน้อมเกล้าฯ ถวายช้างสำคัญ และโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีขึ้นระวางสมโภชช้างสำคัญขึ้นที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อเป็นเกียรติประวัติและเป็นสิริมงคลแก่จังหวัดนราธิวาสและส่วนภูมิภาค เป็นงานพิธีรวม ๓ วัน ในระหว่างวันที่ ๒๓-๒๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๐

     โดยช้าง “จิตรา” ได้ขึ้นระวางเป็น “พระศรีนรารัฐราชกิริณี” หรือนามเต็มว่า “พระศรีนรารัฐราชกิริณี จิตรวดีโรจนสุวงศ์ พรหมพงศ์อัฐทิศพิศาล พิเสฐธารธรณิพิทักษ์ คุณารักษ์ กิตติกำจร อมรสารเลิศฟ้า”

     ก่อนถึงพระราชพิธีสำคัญยิ่งนี้  ทางจังหวัดโดยนายวัชระ สิงคิวิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้จัดสถานที่เตรียมงานและจัดสร้างรูปช้างปูนปั้น ณ ประตูเข้าเมืองให้สมพระเกียรติขึ้น ช้างคู่รูปช้างปูนปั้นออกแบบโดยนายสมพงษ์ แจ้งศิริ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส

     ภายหลังรูปช้างคู่สัญลักษณ์เมืองช้างเผือก ถูกนำไปประดิษฐานอยู่ที่ถนนสุริยะประดิษฐ์ก่อนเข้าสู่ตัวเมืองนราธิวาส ผ่านหน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสเล็กน้อย ผู้ผ่านมาผ่านไปจะเห็นรูปช้างยืนอยู่สองฟากถนนหันหน้าเข้าหากันบริเวณสี่แยกตรงถนนนราภิรมย์ตัดกับถนนสุริยะประดิษฐ์ ชาวนราธิวาสเรียกบริเวณนี้ว่า “แยกช้างคู่” ก่อนจะย้ายรูปช้างปูนปั้นคู่ไปอยู่ใกล้กับสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนราธิวาสในกาลต่อมา

     สำหรับในพระราชพิธีสมโภชช้างเผือก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานเหรียญการสมโภชขึ้นระวางช้างเผือกแก่ข้าราชการและประชาชนไว้เป็นที่ระลึกด้วย เป็นเหรียญที่สร้างด้วยเนื้อเงินแท้ขนาดกว้าง ๓ เซนติเมตร สูง ๓.๕ เซนติเมตร ด้านหน้าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ทั้งสองพระองค์คู่กัน ด้านหลังเหรียญเป็นรูปช้างเผือกแต่งด้วยคชาภรณ์ ข้างบนมีอักษรย่อ ภปร. แนวขอบเหรียญด้านล่างมีอักษรจารึกว่า พระราชพิธีขึ้นระวางสมโภชช้างเผือก ด้านใต้ฐานรูปช้าง มีอักษรว่า จ.นราธิวาส. ส.ค.๒๕๒๐ นับเป็นเหรียญที่สวยงามมาก

     นอกจากนี้ในที่สุดสัญลักษณ์ของจังหวัดนราธิวาสที่เป็นรูปเรือใบเต็มกำลังแล่นกางใบ ก็มีรูปช้างเผือกปรากฏอยู่ด้วย

     ปัจจุบันพื้นที่ที่พบช้างสำคัญจนได้นำเข้าน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นช้างต้นคู่บารมีครั้งนั้น ได้มีการตั้งชื่อสถานที่นั้นเป็นที่ระลึกว่า “บ้านช้างเผือก” ตำบลช้างเผือก ซึ่งแยกมาจากตำบลดุซงญอ และเปลี่ยนจากอำเภอระแงะมาขึ้นตรงต่ออำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส จนปัจจุบันนี้ และในพื้นที่ตำบลช้างเผือกนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ได้เคยเสด็จมาเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๓ กระทั่งมีการก่อสร้างศาลาทรงงานในโครงการศิลปาชีพ พร้อมทั้งมีโครงการของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชอีกหลายโครงการ

     และ...นี่คือตำนานช้างเผือกเชือกที่ ๙ ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่โรงช้างต้น พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จากช้างต้นหรือช้างเผือกทั้งหมด ๑๒ เชือกที่ขึ้นระวางเป็นช้างสำคัญในรัชกาลนี้

     ช้างเผือกเชือกแรกที่ทรงขึ้นระวางเป็นช้างสำคัญในรัชกาล ชื่อ “พระเศวตอดุลยเดชพาหน ภูมิพลนวนาถบารมี ทุติยเศวตกรีกมุทพรรโณภาส บรมกมลาสนวิศุทธวงศ์ สรรพมงคลลักษณะคเชนทรชาติ สยามราษฎรสวัสดิประสิทธิ์ รัตนกุญชรนิมิตบุญญาธิการ ปรมินทรพิตรสารศักดิเลิศฟ้า” เป็นช้างเผือกโท ที่นายแปลกคล้องได้ที่จังหวัดกระบี่เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๙ และ พลโท บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานกรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย น้อมเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๐ สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๒




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://thaigoldcoin.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น